xs
xsm
sm
md
lg

คดีฆ่าเสือดำ-เลือกปฏิบัติจุดระเบิด “ปฏิรูปตำรวจ” อีกชุดใหญ่!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


คงได้เห็นกันแล้วว่า พลังของสังคม โดยเฉพาะ “พลังโซเชียลฯ” มันร้อนแรงขนาดไหน ที่ผ่านมา พลังของประชาชนที่พวก “โลกสวย” นักเคลื่อนไหวทั้งหลายในยุคก่อนชอบนำมาประดิดประดอยถ้อยคำว่านี่คือพลังในการขับเคลื่อนสังคม สร้างความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ในปัจจุบันในยุคที่ทุกคนสามารถ “เป็นสื่อ” กันได้ตราบใด ที่มี “สมาร์ทโฟน” อยู่ในมือ ก็สามารถแสดงความคิดเห็น หรืออาจจะเรียกว่า “ระบาย” ความเห็นออกมาแบบพรั่งพรูเท่าที่ต้องการ หรือแม้กระทั่งแอบถ่าย บันทึกภาพและเสียงของใครก็ได้ที่คิดว่าคนอื่นสนใจ

ปรากฎการณ์จากคดี “ฆ่าเสือดำ” ที่ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) ที่กำลังถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา ย่อมเป็นเครื่องสะท้อนความรู้สึกของสังคมได้ดี ทั้งความรู้สึกจากกรณีที่ “เสี่ยเปรมชัย” เข้าป่าล่าสัตว์ และความรู้สึกจากการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ควบคุมดูแลคดี

หรือแม้กระทั่งในช่วงเวลาเดียวกันที่เกิดคดีที่ชาวบ้านสนใจ อย่างเช่น “คดีหวย 30 สิบล้านอลเวง” ก็กลายเป็นว่ากระทบกระเทือนต่อสถาบันตำรวจอย่างหนัก ในแบบ “คนละเรื่องเดียวกัน” อารมณ์เดียวกัน นั่นคือ การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจใดๆ เพราะเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจให้เป็นรูปธรรม จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องประกาศดำเนินการตามเสียงเรียกร้อง มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุดหลายคณะ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ เองก็คงจำไม่ได้

ล่าสุด ก็มีการตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจชุดล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว มีกรรมการนับสิบคนทำงานกันเป็นเรื่องเป็นราว มีการกำหนดวันเวลาว่าจะมีการสรุปการเมื่อไหร่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปแนวทางการปฏิรูปก็ส่อให้เห็นชัดว่า “คนละเรื่อง” กับที่ชาวบ้านปราถนาให้เป็น ตรงกันข้ามแนวโน้มจะออกมาในทางสร้างความพอใจให้กับตำรวจ โดยเฉพาะระดับผู้บริหารในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเช่นเดิม การกระจายอำนาจ การแยกงานสอบสวน การถ่วงดุลการทำงานของตำรวจก็ไม่มีการพูดถึง และในที่สุด “เรื่องก็เงียบไป” ในที่สุด ตัว พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยยกยอว่าเชื่อถือได้ เพราะเคยเป็นอาจารย์ของเขา มีความรู้ความสามารถ แต่จนบัดนี้ก็หาตัวไม่เจอแล้ว

ทำให้ชาวบ้านสรุปเอาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้มีเจตนาที่จะปฏิรูปตำรวจแต่อย่างใด การที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมามากมายล้วนเป็นการ “ซื้อเวลา” และเบี่ยงเบนความสนใจเท่านั้น ส่วนสาเหตุนั้นอาจเป็นเพราะกลัวแรงกระเพื่อมจากระดับ “บิ๊ก” ในวงการตำรวจ รวมไปถึงฝ่าย คสช. เองนั่นแหละที่ไม่ได้มีเจตนาในเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะหากสังเกตในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ล้วนให้บทบาทกับข้าราชการเป็นหลัก และยังใช้กลไกตำรวจเป็นมือไม้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

หากวกกลับมาที่กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปตำรวจนั่นถือว่า “ตกผลึก” มาตั้งนานแล้ว และเชื่อว่า ถึงอย่างไรในที่สุดแล้วก็เลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ว่าช้าหรือเร็ว เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่คดี “หวย 30 ล้าน” ที่ตอกย้ำเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้ใจการทำหน้าที่ของตำรวจที่ในเบื้องต้น “น่าสงสัย” ว่า มี “บิ๊กตำรวจ” บางคนในพื้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ถูกมองว่าพยายามสร้างเรื่อง แก้ไขสำนวนจนทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานสอบสวนใหม่และเริ่มต้นสอบสวนกันใหม่

ล่าสุด ก็มาถึงเรื่องคดี “ฆ่าเสือดำ” ของ “เสี่ยเปรมชัย กรรณสูต” ดังกล่าว ที่ในที่สุดก็กลายเป็นว่าตำรวจเป็น “จำเลยสังคม” ถูกมองว่าเลือกปฏิบัติกับผู้ต้องหา บังคับใช้กฎหมายไม่เท่าเทียม ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยอยู่ตลอดเวลา ว่า ตำรวจมีเจตนาไม่โปร่งใส

ภาพที่เห็น พล.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มีการเผยแพร่ในโลกโซเชียล มีการเยาะเย้ยต่างๆ นานา สงสัยว่าทำไมต้องไหว้หรือรับไหว้ผู้ต้องหาในระดับต่ำขนาดนั้น เพราะมองว่าเป็น “กิริยานอบน้อม” ผู้ต้องหาจนเกินความพอดี

หรือก่อนหน้านั้น ที่มีคำสั่งออกมาว่าได้ลงโทษนายตำรวจระดับล่างๆ ชั้นยศระดับร้อยเวรที่รับแจ้งความตั้งข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์” โดยอ้างว่าข้อแบบนี้ไม่มีในกฎหมายที่เกี่ยวกับสัตว์ป่า เป็นลักษณะของการตั้งข้อหามั่ว และอ้างว่าแม้ไม่ตั้งข้อหานี้ แต่ก็มีข้อหาอื่นที่หนักกว่า อะไรประมาณนี้ ซึ่งทำสังคมเริ่มโวยวาย กดดันหนักหน่วง เพราะหากย้อนกลับไปช่วงที่มีการจับกุม “เสี่ยเปรมชัย” นั้นแนวทางการสอบสวนของระดับบิ๊กตำรวจที่ดูเหมือน “ไล่บี้” เอากับหัวหน้าชุดจับกุม คือ นายวิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าพื้นที่อุทยานของ จำนวน 110 บาท อนุญาตให้เข้าไปโดยพลการ ซึ่งผิดทั้งวินัยและอาญา

ดังนั้น หากปะติดปะต่อเรื่องราวแล้ว มันก็ช่วยไม่ได้ที่เกิดความระแวงกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรณีที่เกิดขึ้นทั้งสองเรื่องมันจึงไม่ต่างจากแรงจุดระเบิดที่มีความกดดันสะสมมานาน และต่อเนื่อง จนเวลานี้หากให้ตอบคำถามว่าสมควรต้องปฏิรูปตำรวจแล้วหรือไม่ คำตอบน่าจะออกไปในทางเดียวกัน และสุดท้ายก็จะเกิดแรงเหวี่ยงกลับมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกจนได้ เพราะมีเจตนาเตะถ่วงตลอดเวลา!!


กำลังโหลดความคิดเห็น