มหาดไทยยันหลายจังหวัดทำเต็มที่แล้ว! ยกเหตุผลผู้ค้า 4,982 ราย แห่สละสิทธิ์ “ตลาดประชารัฐ” เกิดขึ้นหลังจัดพื้นที่ให้แล้ว อ้างผู้ค้ามีสินค้าไม่พอจำหน่ายเอง จองสิทธิ์แต่กลับนำไปให้เช่าช่วง ผู้ค้าขาดคุณสมบัติ จองแล้วเดินทางไม่สะดวก ประเภทตลาดที่สนใจเต็ม เผย 2 เดือน สร้างรายได้ให้ผู้ค้ารายใหม่ รวมกว่า 406.9 ล้านบาท
วันนี้ (8 ก.พ.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรณีผู้ประกอบการตลาดประชารัฐ สละสิทธิ์ 4,982 ราย เป็นการสละสิทธิ์ภายหลังจากการจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการแล้ว โดยมีสาเหตุได้แก่ 1. ผู้ประกอบการบางส่วนมีสินค้าแต่ไม่เพียงพอต่อการจัดจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง 2. ผู้ประกอบการลงทะเบียนเพื่อเป็นการจองสิทธิ์ไว้โดยที่ยังไม่มีสินค้าที่จัดจำหน่ายหรือจับจองไว้เพื่อนำพื้นที่จำหน่ายสินค้าไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงต่อ 3. ผู้ประกอบการบางรายคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขของตลาด 4. ผู้ประกอบการไม่สะดวกมาจำหน่ายสินค้าในเวลาที่กำหนดให้ บางรายที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการกับตลาดห่างไกลกัน ทำให้ไม่สะดวกที่จะเดินทางมาค้าขาย
5. ผู้ประกอบการมีสถานที่ค้าขายประจำอยู่แล้วแต่ลงทะเบียนเพื่อจองสิทธิพื้นที่เพิ่มเติมไว้ โดยสถานที่ที่รัฐจัดสรรให้ในตลาดประชารัฐมีเวลาจำหน่ายที่ตรงกับเวลาค้าขายเดิมอยู่แล้ว 6. ตลาดที่ผู้ประกอบการสนใจถูกจัดสรรให้ผู้ลงทะเบียนอื่นหมดแล้ว และเมื่อเจ้าของตลาดจะจัดสรรพื้นที่ในตลาดอื่นที่ยังมีพื้นที่ พบว่า ผู้ประกอบการไม่สะดวกในการไปจำหน่ายในตลาดอื่นที่จังหวัดจัดสรรให้ใหม่เพราะทำให้มีค่าต้นทุนในการเดินทางมากขึ้นจึงต้องสละสิทธิ์
“ในการสละสิทธิ์ เป็นการสมัครใจของผู้ลงทะเบียน โดยจังหวัดได้มีความพยายามในการประสานงานและจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้กับผู้ประกอบการตามความประสงค์อย่างเหมาะสมแล้ว”
โฆษกกระทรวงมหาดไทยเผยด้วยว่า ได้มีการจัดตั้ง “คลินิกผู้ประกอบการประชารัฐ” โดยสัมภาษณ์ผู้ประสงค์มาจำหน่ายสินค้าอย่างแท้จริง โดยสรรหาสิน้คาให้ผู้ประกอบการค้าขายอย่างยั่งยืนและเลี้ยงชีพตนเองได้
มีรายงานว่า วานนี้ (7 ก.พ.) นายนิสิต เป็นประธานการประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการประชารัฐ ครั้งที่ 5 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้ง 76 จังหวัด พบว่าการดำเนินโครงการ สามารถสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการโครงการรายใหม่แล้วกว่า 406.9 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีการเน้นย้ำให้ 1. ให้มีการปรับปรุงตลาดประชารัฐทุกแห่งให้เป็นตลาดที่สะอาด อาหารปลอดภัย และไม่ใช้ภาชนะจากโฟม โดยให้มีการตรวจประเมินตลาดประชารัฐ ผ่านเกณฑ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขลักษณะทั่วไป ด้านการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยอาหารและการคุ้มครองผู้บริโภค และด้านการมีส่วนร่วมของผู้ค้าและผู้ซื้อ 2. ให้เร่งจัดทำหลักสูตรและจัดการอบรมผู้บริหารจัดการตลาดประชารัฐ (CMO) โดยมอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดดำเนินการ 3. ให้ทุกจังหวัดโดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดตั้งคลินิกผู้ประกอบการตลาดประชารัฐ เพื่อคัดกรองผู้ประกอบการที่ประสงค์จะจำหน่ายสินค้าอย่างแท้จริง นำมาพัฒนาศักยภาพการสรรหาสินค้าเพื่อค้าขายและการตลาด รวมทั้งคัดกรองผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การดำเนินงานตลาดประชารัฐ
4. ให้เร่งส่งเสริมและพัฒนาตลาดประชารัฐสู่ตลาดเพื่อการท่องเที่ยว โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้แนวทาง “ชอป ชิม ชม” ผ่าน 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) มีป้ายและศูนย์รวมข้อมูล 2) มีมุมถ่ายภาพ 3) ห้องสะอาด 4) เพิ่มร่มเงาและลดแสงสว่างให้แก่พื้นที่ตลาด 5) Tourism for all เช่น สร้างทางลาดสำหรับผู้พิการ และ 5. ให้กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการติดตามประเมินผลสำเร็จของโครงการประชารัฐ โดยดำเนินงานร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาตลาดประชารัฐในอนาคต