ครั้งสุดท้ายแล้วสำหรับการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษม หลังจากเปิดเวทีแสดงสินค้า โดยให้หน่วยงานภาครัฐฯ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ จัดระหว่างวันที่ 12-27 ธันวาคม 2560 จากนั้นตลาดเพื่อประชาชนแห่งนี้จะส่งมอบพื้นที่คืนให้แก่ทำเนียบรัฐบาล
การเดินทางของตลาดคลองผดุงฯ มานาน 3 ปีถือว่าไม่สูญเปล่า เพราะนอกจากจะเป็นเวทีแสดงศักยภาพผลงาน และงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ยังเป็นช่องทางการเปิดตลาดที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่นอกจากได้นำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังเป็นการเปิดการตลาด หาคู่ค้าทางธุรกิจทั้งไทยและเทศเพื่อสานต่อในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ภาครัฐฯ เตรียมนำโมเดลความสำเร็จของตลาดคลองผดุงกรุงเกษมไปใช้เป็นต้นแบบสู่การจัดตลาดประชารัฐตามจุดอื่นๆ อีก 6,527 แห่งทั่วประเทศต่อไป
เรียกว่าเป็นการจัดงานส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สำหรับงาน ‘สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม 2560’ ที่งานนี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) รับหน้าที่ส่งมอบความสุขให้แก่ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
“นายมงคล ลีลาธรรม” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ฉายภาพการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นงานที่ได้รวบรวมสินค้าดี มีคุณภาพพมาตรฐานจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทั่วประเทศกว่า 400 ราย ทั้งเอสเอ็มอี โอทอป กลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน และท่องเที่ยวชุมชน แบ่งรูปแบบการจัดงานเป็น 2 สัปดาห์ คือ สัปดาห์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 12-18 ธันวาคม 2560 ใช้รูปแบบ “SMEs สินค้าดี 4.0 ท่องเที่ยวชุมชน” รวบรวมสินค้ามาตรฐานเยี่ยม มีนวัตกรรมจากเอสเอ็มอี โอทอป และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชุมชน เช่น แพกเกจท่องเที่ยวไทยปี 2561 สินค้าที่ระลึกจากท้องถิ่น เป็นต้น และในสัปดาห์ที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19-27 ธันวาคม 2560 ใช้รูปแบบ “ของดี ของดัง ของขวัญปีใหม่” คัดสรรสินค้าคุณภาพดีเหมาะซื้อหาเป็นของขวัญในเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่
ทั้งนี้คาดว่าตลอดการจัดงานรวม 16 วันจะมีผู้เที่ยวงานไม่ต่ำกว่า 8,000-10,000 คน/วัน หรือกว่า 1 แสนคนตลอดการจัดงาน พร้อมมั่นใจจะมีเงินสะพัดภายในงานไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการกระจายรายได้ถึงมือผู้ผลิตโดยตรง และแผนต่อไปของรัฐบาล จะเตรียมนำโมเดลตลาดคลองผดุงกรุงเกษมไปสานต่อสู่ตลาดประชารัฐที่มีอยู่ 6,527 แห่งทั่วประเทศ
“การจัดงานในครั้งนี้ทาง SME Development Bank ตั้งใจจำลองตลาดคลองผดุงฯ ให้เป็นห้องแห่งการเรียนรู้ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดที่ให้มาจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเราจะคัดสรรสินค้าดี มีมาตรฐานที่พร้อมจะเปิดตลาดได้ทั้งในประเทศ และก้าวสู่สากลมาจัดแสดงไว้ ขณะเดียวกันยังเปิดเวทีเสวนา ด้วยการเชิญนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาให้ความรู้ อย่าง ‘เจ้เล้ง’ มาให้คำแนะนำผู้ประกอบการรุ่นน้องในการเปิดตลาดต่างประเทศ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจอีกด้วย เพราะผมเชื่อว่าสิ่งทีดีที่สุด คือผู้ประกอบการสอนผู้ประกอบการด้วยกันเอง” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ตลาดคลองผดุงกรุงเกษมเกิดจากดำริของ “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” เพื่อต้องการแก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะสินค้าการเกษตรตกต่ำ ด้วยการหาช่องทางตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิต กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี และโอทอป ไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้รายได้ไปถึงผู้ประกอบการอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมถึงผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าดีมีคุณภาพในราคาย่อมเยา
ตลอดระยะเวลา 3 ปีของการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษมมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2538 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2560 รวม 37 ครั้ง มีหน่วยงานต่างๆ สลับสับเปลี่ยนมาเป็นเจ้าภาพอย่างต่อเนื่อง จำนวน 24 หน่วยงาน ขณะที่ผู้ประกอบการเข้าร่วมจำหน่ายสินค้ากว่า 7.6 พันราย จำนวนผู้เข้าเที่ยวงานกว่า 3.6 ล้านคน และสร้างยอดขายภายในงานมากว่า 1.9 พันล้านบาท หรือเกือบ 2 พันล้านบาท เน้นรูปแบบการจัดงานด้วยการดึงเสน่ห์ของตลาดชุมชนในอดีตที่เคยตั้งอยู่ในพื้นที่บริการนี้กลับมาให้คนยุคปัจจุบันได้สัมผัสอีกครั้ง โดยตลาดคลองผดุงกรุงเกษมจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2558 ถึง 1 มี.ค. 2560 ภายใต้ชื่อ “ตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ” โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ ใช้พื้นที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้ประกอบการมาร่วมทั้งสิ้น 40 ราย สร้างรายได้กว่า 10 ล้านบาท
จากความสำเร็จอย่างล้นหลามของการจัดงานตลาดคลองผดุงกรุงเกษมครั้งแรก จึงเกิดการต่อยอดบูรณาการให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นเจ้าภาพ นอกจากช่วยด้านช่องทางจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังก่อประโยชน์ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาจำหน่าย เกิดโอกาสสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ อีกทั้งยังให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการจัดทำบัญชีครัวเรือนและบัญชีต้นทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการรายย่อยไปพร้อมกัน รวมถึงยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ใจกลางเมืองหลวงของคนกรุงเทพฯ ด้วย
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *