xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ปิดทางหนี “ประวิตร” บี้ตรวจที่มานาฬิกาหรูเกินรายได้ 3 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รสนา” ชี้ นาฬิกาหรู “ประวิตร” มีราคาสูงกว่ารายได้ 3 เท่า ใน 22 เรือน มีสองเรือนมูลค่า 3.8 ล้านบาท ใส่ก่อนเข้าดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. บี้ตรวจสอบที่เหลืออีก 20 เรือนได้มาโดยชอบและเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ เชื่อจบไม่สวย จะอ้างยืมมา ซื้อมาเอง รับมรดกหรือยกให้โดยเสน่หา ก็เข้าข้อ กม. ให้ต้องพิสูจน์ทั้งสิ้น

วันที่ (14 ม.ค.) เวลา 17.09 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” หัวข้อ “มาตรการตรวจสอบทุจริตที่ได้ผล คือ ตรวจสอบว่ามีการเสียภาษีหรือไม่” โดยระบุว่า

เพจ CSI LA ได้เดินหน้าค้นหานาฬิกาของ พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพบเรือนที่ 22 แล้วในวันนี้ (14 ม.ค. 2560) มูลค่าของนาฬิกาทั้ง 22 เรือนประมาณ 34,703,000 บาท (34.7 ล้านบาท)

จากข้อมูลของ CSI LA นาฬิกาเรือนที่ 16 พล.อ.ประวิตร ใส่ตั้งแต่ปี 2553 ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเรือนที่ 20 ใส่เมื่อ 4 กันยายน 2557 คณะรัฐมนตรีต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ภายใน 30 วันหลังเข้าดำรงตำแหน่ง แต่นาฬิกาทั้ง 2 เรือนนี้ ไม่ได้ปรากฏในรายการบัญชีทรัพย์สินของท่านเมื่อเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาล คสช. เมื่อเดือนกันยายน 2557

นาฬิกาเรือนที่ 16 มีมูลค่า 1.2 ล้านบาท และ เรือนที่ 20 มีมูลค่า2.6 ล้านบาท รวม 2 เรือนนี้มีมูลค่า 3.8 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 200,000 บาท ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

เพียงนาฬิกา 2 เรือนนี้ ก็เป็นหลักฐานมัด พล.อ ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วว่าไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน ส่วนจะชี้แจงได้สมเหตุสมผลว่ามิใช่จงใจปกปิดบัญชีแสดงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ได้หรือไม่นั้น ต้องติดตามต่อไปว่า ป.ป.ช. จะตัดสินอย่างไร

ส่วนนาฬิกาที่เหลืออีก 20 เรือนนั้น มีมูลค่า 30,903,000 บาท (30.9 ล้านบาท) สามารถอ้างได้ว่าเป็นนาฬิกาที่ได้มาหลังจากเข้าดำรงตำแหน่งแล้วเมื่อกันยายน 2557 จึงยังไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน

แต่ถ้าดูรายได้ของ พล.อ ประวิตร ในการดำรงตำแหน่งในรัฐบาล คสช. 3 ปี ประเมินรายได้เต็มที่ 3 ปี ไม่น่าเกิน 9 - 10 ล้านบาท แต่มูลค่านาฬิกา 20 เรือน มีมูลค่าถึง 30.9 ล้านบาท จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าป.ป.ช. จะตรวจสอบไปในทิศทางไหน ซึ่งต้องไม่ปิดจ็อบโดยให้เหตุผลง่ายๆ ว่า พล.อ ประวิตร ยังไม่ต้องแจ้งทรัพย์สินเพราะยังอยู่ในตำแหน่ง ใช่หรือไม่

การตรวจสอบกรณีนี้ของ ป.ป.ช. กำลังถูกจับตาจากสังคมอย่างใกล้ชิด ว่า นี่คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ สนช. ต้องแก้ไข พรป.ป.ป.ช. ให้ยกเว้นทั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เพื่อให้ประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นอดีตเลขาหน้าห้องของ พล.อ ประวิตร ที่ขาดทั้งคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้นั่งเป็นประธาน ป.ป.ช. ต่อไป โดยยอมให้สังคมตำหนิว่า สนช. ออกกฎหมายฉบับลูกฆ่าแม่ (รัฐธรรมนูญ) และยอมเป็นคัตเอาต์ด้วย

การไม่ยอมส่ง พรป.ป.ป.ช. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกด้วย ใช่หรือไม่

ขอเสนอให้ประธาน ป.ป.ช. พิสูจน์ตัวเองว่าจะตรวจสอบกรณีนี้โดยไม่เห็นแก่คนที่เป็นนายเก่าโดยขอให้ตรวจสอบจากประเด็นของภาษี ดังนี้

ข้อ 1) หาก พลเอก ประวิตร ให้การว่า นาฬิกาและแหวนเพชรได้มาจากการรับมรดก ก็ถือว่าได้รับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 พลเอก ประวิตร จะต้องมีพยานหลักฐาน เช่น พินัยกรรม หรือหนังสือสัญญาแบ่งมรดกระหว่างทายาทมาพิสูจน์จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10) แต่ถ้า พลเอก ประวิตร ให้การว่า บุพการีหรือผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสยกให้โดยเสน่หา พลเอก ประวิตร ก็ต้องนำบุคคลดังกล่าวหรือพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้มาพิสูจน์เพื่อขอยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท และคงเสียภาษีในส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท แต่ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ ส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท แต่ถ้า พลเอก ประวิตร ให้การว่า มีคนที่ไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรสยกให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น วันขึ้นปีใหม่ พลเอก ประวิตร ก็ต้องนำผู้ให้มาให้การเพื่อขอยกเว้นภาษีสำหรับมูลค่านาฬิกาและแหวนเพชรส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(28) และคงเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท แต่ถ้าผู้ให้ไม่ยอมมาให้การ พลเอก ประวิตร ผู้รับก็ต้องเสียภาษีทั้งส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท และส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ซึ่งโอกาสที่ผู้ให้จะมาให้การเป็นพยานให้ พลเอก ประวิตร ไม่ว่าต่อ ป.ป.ช. หรือกรมสรรพากรนั้นเป็นไปได้น้อย เพราะผู้ให้จะต้องถูกตรวจสอบว่าเอาเงินที่ไหนมาซื้อนาฬิกาและแหวนเพชรมูลค่าสูงเช่นนั้น เงินได้นั้นได้เสียภาษีหรือยัง หากยังไม่ได้เสียภาษีก็ต้องถูกประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม และยังต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ทั้งโดนดำเนินคดีเรื่องฟอกเงินอีกโสดหนึ่งด้วย

ประเด็นเรื่องภาษีนี้เป็นหน้าที่ของอธิบดีกรมสรรพากรที่จะต้องตรวจสอบและประเมินภาษี มิฉะนั้น ถือว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 นอกจากนี้ พลเอก
ประวิตร และผู้ให้ยังมีความผิดตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่รับและให้ของมีมูลค่าเกิน 3,000 บาทด้วย

ข้อ 2) หาก พล.อ ประวิตร ใช้เหตุผลว่ายืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ ก็ต้องระบุชื่อผู้ให้ยืม และต้องมีการตรวจสอบผู้ให้ยืมว่าเสียอากรขาเข้าตอนนำเข้านาฬิกามาในประเทศไทยหรือไม่ ถ้าไม่ได้เสียอากรขาเข้า ก็ต้องถูกกรมศุลกากรประเมินอากรขาเข้าพร้อมเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ และเป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรอีกด้วยที่ต้องออกหมายเรียกผู้ให้ยืมมาตรวจสอบว่านำเงินได้ที่ไหนมาซื้อนาฬิกาหรูเรือนนั้นๆ และเสียภาษีเงินได้หรือยัง ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียภาษีเงินได้แล้ว กรมสรรพากรก็ต้องประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยอาจประเมินตามมาตรา 49 ของประมวลรัษฎากรก็ได้ ดังนั้น แม้จะให้การว่ายืมมา เรื่องก็มิใช่จะจบง่าย เพราะในกรณีผู้ให้ยืมหากนำเข้านาฬิกาโดยไม่ได้เสียภาษีนำเข้า ผู้ยืมคือ พล.อ ประวิตร ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร 2469 มาตรา 27 ไปด้วย กล่าวโดยย่อคือผู้ยืมของที่ไม่ได้เสียภาษี “รับไว้ด้วยประการใดๆซึ่งของที่ยังไม่เสียภาษี” ผู้ยืมจะมีความผิดไปด้วย

ข้อ 3) หาก พล.อ ประวิตร ให้การว่าซื้อมาเอง ก็ต้องถามต่อไปว่านำเงินได้ส่วนไหนมาซื้อ เพราะรายได้ในการดำรงตำแหน่ง3ปีในรัฐบาล คสช. เงินรายได้ของ พล.อ ประวิตร หากมีน้อยกว่ามูลค่านาฬิกาและแหวน ก็อาจนำไปสู่ประเด็นอื่น เช่น เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่

กรณีนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ทั้ง ป.ป.ช., สนช. และรัฐบาล คสช. ที่เคยประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน ว่า จะไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอีกต่อไป และอวดอ้างว่าได้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปราบโกงนั้น จะเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในการปราบโกงเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่ละเว้นให้กับพรรคพวกตัวเอง หรือไม่ ??!!




กำลังโหลดความคิดเห็น