xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.เผย ป.ป.ช.อ้างดักฟังเป็นเรื่องสากล สนช.หวั่นละเมิดสิทธิ์ ยกมี ป.วิอาญา คุมอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (แฟ้มภาพ)
กมธ.กม.ป.ป.ช. เผย ป.ป.ช. ชงดักฟัง อ้างเป็นสากล ด้าน สนช. กังวลละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคล ชี้ไม่จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจ เหตุ มี ป.วิอาญา คุมอยู่ นัดพิจาณาชี้ขาดพรุ่งนี้ รวมถึงปมร้อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินเมียนอกสมรส

วันนี้ (20 ธ.ค.) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ว่า ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช. วันที่ 21 ธ.ค. นี้ ให้รอฟังการอภิปรายของ สนช. เมื่อถามว่า กรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ได้เพิ่มเติมอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการ และประชาชน ผ่านช่องทางโทรศัพท์, โทรสาร, โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด เป็นอย่างไร พล.ต.อ.ชัชวาลย์ ไม่ตอบเพียงแต่บอกว่า 21 ธ.ค. นี้ ก็เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ให้ไปฟังการอภิปรายวันนั้น

ด้าน พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า ป.ป.ช. เป็นผู้เสนอเรื่องนี้มา โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องสากล ซึ่ง ป.ป.ช. ก็ทำตามข้อตกลงที่ประเทศไทยเราเข้าเป็นภาคี ในต่างประเทศหลายประเทศก็ให้อำนาจ ป.ป.ช. ทำได้และในประเทศไทยก็มีองค์กร เช่น กรมสอบสวนพิเศษ หรือ ดีเอสไอ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ช.) สามารถที่จะสืบค้นข้อมูลได้ ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจในการสอบสวนการทุจริต การร่ำรวยผิดปกติ และบางคดีก็โยงใยการฟอกเงิน ก็น่าจะให้อำนาจ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้ได้ อีกทั้งขณะนี้ ป.ป.ช. มีคดีจำนวนมากยังไม่สามารถปิดคดีได้ การให้ ป.ป.ช. สามารถดักฟังข้อมูลได้ก็จะช่วยงานของ ป.ป.ช. ได้มาก อย่างไรก็ตาม ทาง กมธ. ได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แต่ในกรณีนี้จะเป็นการสืบค้นข้อมูลกับผู้ที่ถูกกล่าวหา และ ป.ป.ช. มีมติชี้มูล จึงจะทำได้ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้การประเด็นดังกล่าวจะผ่านหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสนช.จะพิจารณาเห็นชอบหรือไม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ประเด็นการให้อำนาจ ป.ป.ช. ดักฟังข้อมูลนั้น สนช. หลายคนแสดงความกังวลว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่และอาจขัดกับรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการให้อำนาจ ป.ป.ช. มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งเรื่องการดักฟังข้อมูลนั้นก็มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นต้น แต่ก็ต้องได้รับอนุญาตจากศาลถึงจะทำได้ การที่ ป.ป.ช. กล่าวอ้างว่า เพื่อหาหลักฐานในคดีที่ทุจริต คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีที่มีความร้ายแรง ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่สามารถหาข้อมูลหรือพยานหลักฐานมาได้ การดักฟังข้อมูลจะทำให้ได้พยานหลักฐาน เพื่อมาประกอบการพิจารณาคดีนั้น ไม่น่าจะมีเหตุผลหรือน้ำหนักมากพอ โดยได้ยกตัวอย่างคดีร่ำรวยผิดปกติของ นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดร่ำรวยผิดปกติ ทาง ป.ป.ช. ก็หาพยานหลักฐานจนนำไปสู่การฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องดักฟังข้อมูล นอกจากนี้ จะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) เกี่ยวกับการดักฟังข้อมูลในคดีต่างๆ โดยจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดักฟังใหม่ว่าคดีใดจะเข้าข่าย พร้อมทั้งวางหลักเกณฑ์การอนุญาตให้หน่วยงานที่ร้องขอ เมื่อเข้าหลักเณฑ์ก็ต้องยื่นศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยอนุมัติ ดังนั้นป.ป.ช.จึงไม่จำเป็นต้องมาเขียนอยู่ในร่างพ.ร.ป.ป.ป.ช. ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวเชื่อว่าจะมีการอภิปรายกันมาก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุม สนช. ในวันที่ 21 ธ.ค. ในวาระ 2 และ 3 โดยที่ประชุมได้เปิดให้ใช้เวลาการพิจารณาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ป. ดังกล่าวมีทั้งหมด 199 มาตรา โดยมีวาระสำคัญกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ต้องแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ส่วนผู้ที่ทำงานอยู่แล้วต้องยื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กรณีคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยโดยให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์ว่าแค่ไหน เพียงใดถึงจะถือว่าเป็นคู่สมรสฉันท์สามี ซึ่งต้องอยู่กินกันพอสมควร กำหนดให้มี ป.ป.ช. ส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่สนับสนุน ป.ป.ช. กลาง ในการตรวจสอบทุจริตในระดับพื้นที่ พร้อมยกเลิกกรรมการ ป.ป.ช. จังหวัด ให้เหลือเฉพาะ ผอ.ป.ป.ช. จังหวัด ตัดอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. จังหวัด ให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. กลาง เท่านั้น กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และ ไต่สวนคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี เพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ให้สามารถสืบค้นข้อมูลของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ข้าราชการ และประชาชน ผ่านช่องทางโทรศัพท์, โทรสาร, โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์สื่อสารทั้งหมด โดยต้องเป็นไปตามดหลักเกณฑ์ให้ดักฟังได้เฉพาะคดีร่ำรวยผิดปกติ คดีทุจริตหรือกระทำผิดต่อหน้าที่ และต้องเป็นคดีที่มีความร้ายแรงต่อสาธารณชน โดยกำหนดให้อธิบดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้ให้อนุญาตพิจารณาตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างระมัดระวัง ทั้งนี้ ป.ป.ช. จะมีอำนาจดักฟังได้ในชั้นไต่สวนคดี ภายใน 90 วัน ขณะที่บทเฉพาะการ เรื่องการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน กมธ. ให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี ซึ่งร่างเดิมที่มาจาก กรธ. นั้น มีการรีเซตกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจบันและให้อยู่เท่าที่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น