สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณากฎหมายลูก ป.ป.ช. วันแรกไม่จบ สนช. แห่รุมค้านดักฟัง ชี้ ส่อขัดรัฐธรรมนูญ “วิชา” เตือนใช้อำนาจขอบเขตอาจทำองค์กรสั่นสะเทือนได้ ห่วงเป็นเครื่องมือแบล็กเมล์ “ภัทระ” ซัดไร้มาตรการจะทำลายข้อมูลตัวเองเมื่อไหร่ หลายคนสับเป็นภัยทางการเมือง “วัชรพล” อ้างต้องขออนุญาตศาลก่อน พร้อมทำลายข้อมูลไม่เกี่ยว ด้าน ปธ.สนช. สั่งพักการประชุม ก่อนให้พิจารณาต่อพรุ่งนี้
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ... ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 193 มาตรา ซึ่งที่ประชุมแบ่งการพิจารณาอยู่เป็น 2 วัน โดยมาตราที่สมาชิก สนช. ให้เวลาอภิปรายมากที่สุด คือ มาตรา 37/1 ซึ่ง กมธ. เขียนเพิ่มใหม่กำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจสืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ต่างๆ ได้ ทั้งนี้ ได้ขอให้มีการตัดมาตราดังกล่าวออก เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 36
นายวิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การใช้อำนาจเกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ ยิ่งหากหลักฐานที่ได้มาไม่บริสุทธิ์จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง อีกทั้งยังเป็นห่วงว่าหากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลุดออกไปอาจเป็นเครื่องมือนำไปใช้แบล็กเมล์ทางการเมืองได้ ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะเป็นประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ดังนั้น จึงไม่ควรบัญญัติไว้ และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน ขณะเดียวกัน ถ้า ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง เป็นการได้ข้อมูลทางลัด ทั้งนี้ การใช้มาตรา 37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องพึงระวัง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้ศาลจะเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ศาลกระอักกระอ่วน เพราะ ป.ป.ช. เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ รู้สึกไม่สบายใจ แต่เชื่อว่า สนช. จะพิจารณากฎหมายด้วยความรอบคอบ ให้ประชาชนสบายใจ มีความยุติธรรมอย่างแท้จริง
ด้าน นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช. พยายามเสนอหลักการนี้เข้ามา ถ้า สนช. เห็นชอบจะสร้างประวัติศาสตร์ ยอมให้อำนาจนี้กับ ป.ป.ช. ทั้งนี้ มาตรา 50 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (UNCDC) จะระบุถึงเรื่องการให้ใช้มาตรการพิเศษในการตรวจสอบการทุจริต แต่ระบุเพียงว่าให้ใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้การควบคุมเท่านั้น น่าคิดว่า หาก ป.ป.ช. ได้อำนาจส่วนนี้ไปแล้วถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น การพิจารณามาตรานี้ ใช้เวลาสั้นๆ ในชั้น กมธ. ไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็เกิดมาตรา 37/1 ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงเรื่องอำนาจการอำพราง และสะกดรอย ที่เสนอเป็นฝาแฝดพ่วงมาด้วย ถือว่าการพิจารณายังไม่ละเอียดรอบคอบ
“ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ การใช้อำนาจดักฟังจะต้องมีน้ำหนักหลักฐานแน่นหนาทางคดี จึงจะดำเนินการได้ เช่น ตำแหน่งที่ดักฟัง รูปแบบการดักฟัง รายชื่อเป้าหมายการดักฟัง เหตุผลการดักฟัง และต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้กระบวนการสอบสวนทางปกติได้ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่หลักเกณฑ์ของไทยมีรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตั้งข้อสงสัยก็ดักฟังกันได้แล้ว” นายภัทระ กล่าว
นายภัทระ กล่าวว่า นอกจากข้อมูลที่ดักฟังหากไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับคดีต้องถูกทำลายทันที ต่างจากมาตรการของไทยที่ไม่ได้ระบุชัดเจนจะทำลายข้อมูลเมื่อใด รวมทั้งต่างประเทศกำหนดให้ต้องรายงานเรื่องการดักฟังต่อศาลทุก 7 - 10 วัน ต่างจากของไทยที่พอได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จะมีเวลา 90 วัน ไปดำเนินการ แล้วจึงนำมารายงานต่อศาล และถ้าถูกดักฟังแล้ว แต่พบว่าไม่เข้าข่ายความผิด ผู้ถูกดักฟังต้องได้รับการแจ้งเตือนทันที และมีโอกาสฟ้องร้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ทั้งนี้ บางประเทศ พิสูจน์ได้ว่าการดักฟังไม่มีอคติ แต่ ป.ป.ช. จะมีอคติหรือไม่ก็ไม่รู้ อย่ามุ่งแต่ใช้ข้อมูลที่จะกำจัดคนโกงเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ ป.ป.ช. ตกอยู่ในความเสี่ยง ถูกเปลี่ยนโฉมไป การได้เครื่องมือปราบทุจริตต้องชั่งน้ำหนักถึงคุณค่าที่ต้องแลกมา เช่น การละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตยว่าคุ้มค่ากันหรือไม่
ทั้งนี้ สมาชิกหลายคนได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับมาตราดังกล่าว เพราะเห็นว่าการให้อำนาจ ป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้เป็นภัยทางการเมืองต่อทุกคน อาจมีการดักฟังข้อมูลในทุกเรื่อง ถือว่าอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หากยังเดินหน้าต่อไปจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน
นายตวง อันทะไชย สนช. อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆ ต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อยากทราบว่าจะมีกลไกใดเข้าไปถ่วงอำนาจการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้ เพราะในอนาคตอาจมีการหยิบยกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มาอภิปรายทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ เหมือนอย่างในอดีตที่เคยให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ล้นฟ้า สุดท้ายกลับตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง นำมาใช้กลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ
ขณะที่ฝั่ง กมธ. เสียงข้างมาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว ฟังแล้วแสลงใจ เพราะ กมธ. เสียงข้างมากไม่มีเจตนาต้องการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 เพราะการจะใช้อำนาจตามมาตรา 37/1 ได้ ต้องผ่านมติเห็นชอบจาก ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนก่อนว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะขอยื่นอนุมัติต่อศาล เมื่อ ป.ป.ช. อนุญาตแล้วต้องส่งเรื่องให้อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบให้ความเห็นชอบด้วย ไม่ใช่แค่ให้ผู้พิพากษาทั่วไปอนุญาต ที่สำคัญฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา 37/1 ได้ ต้องเป็นเรื่องสำคัญมีผลกระทบในวงกว้าง เมื่ออธิบดีศาลฯอนุญาตแล้ว ป.ป.ช. จะมีเวลาไม่เกินครั้งละ 90 วันในการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว ส่วนข้อมูลที่ได้มาจะใช้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับคดีจะถูกทำลายทันที ป.ป.ช. ไม่มีเจตนาจะละเมิดสิทธิประชาชน แต่จะทำทุกทางเพื่อตรวจสอบการทุจริต
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร ประธาน กมธ. ยืนยันว่า เรื่องการให้อำนาจ ป.ป.ช. สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ กมธ. ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายมาตราดังกล่าวไม่สามารถหาข้อสรุปได้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ในฐานะประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุม 10 นาที และเมื่อเปิดประชุมอีกครั้งได้แจ้งว่าจากการหารือระหว่าง กมธ. เสียงข้างมากยืนยันไม่ยอมถอนมาตรา 37/1 แต่ด้วยพิจารณามาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว จึงเห็นว่าให้พิจารณาต่อในวันที่ 22 ธ.ค. นี้ เวลา 09.00 น.