สภาถกแหลกร่างกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 37/1 ปมเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. สามารถดักฟังข้อมูลได้ และในที่สุด กมธ. เสียงข้างมากยอมตัดออกจาก ร่าง ป.ป.ช. หลังโดน สนช. ถล่มหนัก อ้างไม่ต้องการให้สภาเสียเวลาและเห็นว่าเวลายังไม่เหมาะสม
วันนี้ (22 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาเสร็จแล้ว ต่อจากเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยการพิจารณายังอยู่ที่มาตรา 37/1 ที่คณะกรรมาธิการฯร่างขึ้นมาใหม่ทั้งมาตรา ซึ่งเพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลได้ โดย นายสุรชัย ได้ชี้แจงว่า ขณะนี้มี 3 กลุ่มคือ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และ สมาชิกที่อภิปรายในประเด็น ดังนั้น ตนจึงจะให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มอภิปรายสรุปแต่ละครั้ง
นายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ. เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ป.ป.ช. เสนอกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช. ดักฟัง ซึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชน ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน โดย ป.ป.ช. อ้างว่า เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ ข้อที่ 50 ที่จะต้องทำ แต่ข้อที่ 50 จะต้องดูที่พื้นฐานและอยู่ภายใต้กฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งประเทศไทยเองก็มีหน่วยงานที่ดักฟังอยู่แล้ว สิ่งที่น่าวิตก คือ หากใช้กฎหมายแล้วถูกครอบงำใช้อำนาจไปทำลายล้างการเมืองและเรื่องส่วนตัว และข้อกำหนดในมาตรา 37/1 ด้วยเหตุผลของเสรีภาพในการสื่อสารซึ่งเห็นหลักพื้นฐานของประชาชน แม้การดักข่าวสารเป็นวิธีการที่สืบสวนพิเศษที่ทำให้ได้พยานหลักฐาน แต่ ป.ป.ช. และกรรมาธิการเสียงข้างมาก ปฏิเสธที่จะกำหนดการถ่วงดุลอำนาจของ ป.ป.ช. ลงในกฎหมายไปด้วย เช่น กฎเกณฑ์ในการขออนุญาตต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเพื่อดักฟังไม่ชัดเจน ระบุไว้เพียงว่า เป็นเหตุอันควรเชื่อ ซึ่งเป็นดุลพินิจ ไม่ได้ระบุวิธีการรับผิดชอบหากดักฟังผิดคนไม่มีการระบุวิธีการทำลายข้อมูลที่ดักฟัง ไม่ระบุรายละเอียดของรายงานที่ต้องยื่นต่อศาลหลังมีการเข้าถึงข้อมูล อีกทั้งระยะเวลา 90 วัน ที่จะต้องยื่นรายงานนานเกินไป และไม่ระบุเงื่อนไขอื่นๆ ตามหลักการสากลเมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังกำหนดให้รายงานผลการดักฟังภายใน 10 วัน
“ผลงานชิ้นโบแดงของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา คือ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ ป.ป.ช. ทำ จับคนทุจริต ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ มาลงโทษได้ โดยปราศจากเครื่องมือดักฟัง แต่ ป.ป.ช. ก็สามารถทำได้” นายภัทระ กล่าว
นายภัทระ กล่าวต่อว่า หลักการเดิมที่เป็นหัวใจของกฎหมาย ป.ป.ช. คือ การถ่วงดุลอำนาจ โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบ ป.ป.ช. ก็ได้ แต่ถูกถอดออกจากร่างกฎหมายฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จึงให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่ ป.ป.ช. จนเกินไป ซึ่งในอนาคตอาจถูกใช้เป็นเป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง หรืออาจถูกยุบ ควบรวมกับหน่วยงานอื่นเนื่องจากมีอำนาจมากจนเป็นภัยต่อรัฐบาล และเห็นว่า ป.ป.ช. เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ ไม่ใช่หน่วยงานสืบสวนเบื้องต้น
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ในฐานะตัวแทนกรรมาธิการเสียงข้างมาก อภิปรายยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากอำนาจดังกล่าวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ป.ป.ช. ในการปฏิบัติหน้าที่ที่เข็มแข็ง ป.ป.ช. ก็ต้องแสวงหาเครื่องมือใหม่มาใช้ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็สามารถร้องคัดค้านได้ตลอดเวลาทุกขั้นตอน อีกทั้งเหตุอันควรในการยื่นขอเข้าถึงข้อมูล ไม่ใช่ดุลพินิจของคนๆ เดียว แต่ต้องเป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบพนักงาน ป.ป.ช. อยู่แล้ว ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ใช่องค์กรกึ่งตุลาการ ดังนั้น สมาชิก สนช. กรุณามองประเด็นที่เราเอากฎหมายจริงๆ มาเสนอ แต่จะให้หรือไม่ขอให้เป็นดุลพินิจของท่าน
ด้าน นายตวง อันทะไชย สนช. กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานอื่นต้องการอำนาจเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. และมาขอสภา โดยอ้างว่าเพื่อให้ตัวเองทำงานได้รวดเร็วมีประสิทธิภาพเกิด ถามว่า จะปฏิเสธได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา หัวใจสำคัญของความขัดแย้ง คือ สังคมไม่เชื่อใจกัน และหวาดระแวง ประเทศชาติจะอยู่ได้อย่างไร หัวใจของความขัดแย้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549 - 2557 คือ สังคมไม่เชื่อใจ ความหวาดระแวง และขณะนี้เรากำลังจะเติมเชื้อและนำสู่วิกฤตอีกครั้ง เพราะมาตรา 37/1 คือ การให้อำนาจคนคนเดียวละเมิดสิทธิใครก็ได้ จะทำให้เกิดการทุจริตแบบซับซ้อน อำนาจอยู่ที่ใครแล้วปราศจากการถ่วงดุลก็จะทำทุจริตเสียเอง ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ใช่ใช้เครื่องมือนี้อย่างเดียวเท่านั้นแต่มีวิธีอื่นอีกมากมาย ดังนั้น หวังว่าสภาจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนในการออกปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาล สุขสมจิตร์ ประธาน กมธ. กล่าวว่า การดักฟังถือเป็นเครื่องมือที่มีความจำเป็น แต่กมธ. ไม่ต้องการให้สภาเสียเวลากับปัญหาดังกล่าว และเห็นว่า เวลายังไม่เหมาะสม จึงขอถอนมาตรา 37/1 รวมถึงมาตรา 37/2 และมาตรา 37/3 ออกไป ประกอบกับที่จะมีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งจะมีประเด็นดังกล่าวอยู่แล้ว และเมื่อถอนมาตราดังกล่าวออกไป ร่าง พ.ร.ป. ฉบับนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญอยู่ในคำปรารถ จึงขอให้ตัดออกจากร่างพ.ร.ป. ฉบับนี้ออกไปด้วย