ข่าวปนคน คนปนข่าว
** เบื้องลึกใบสั่ง!! แฉ กมธ. เสียงข้างมากใช้เวลาแค่ ชม. เดียว ยัดไส้อำนาจ ป.ป.ช. ทั้ง “ดักฟัง - แฮกข้อมูล” เหมือนบางคนอยากยึดไว้เป็น “หน่วยจารกรรมส่วนตัว” จนเจอดักคอเอาไว้ “แบล็กเมล์” ทางการเมืองมากกว่าติดอาวุธให้ “องค์กรปราบโกง”
ยักแย่ยักยันกันเป็นพิธีหรือเปล่า .. เมื่อวาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมง พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในวาระ 2 ได้แค่ไม่กี่มาตรา .. เจอฤทธิ์ สมาชิก สนช.- กรรมาธิการเสียงข้างน้อย ชำแหละ “มาตรา 37/1” ที่ “ติดหนวด - ติดดาบ” เพิ่ม “อำนาจพิเศษ” ให้ ป.ป.ช. ล้วงข้อมูลส่วนตัวเชิงลึก ราวกับ “หน่วยจารกรรม” ทั้ง “ดักฟัง - แฮกข้อมูล” ได้อย่างฟรีสไตล์ .. หลายคนมองว่าจะเป็น “ดาบสองคม” วันหน้าหากถูกครอบงำ ก็จะกลายเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” เอาไว้ไล่ล่าเช็คบิลฝ่ายตรงข้าม .. สอดคล้องกับที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ย้ำมาทุกวันว่า การเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ดักฟังข้อมูล กระทบประชาชนมากกว่าได้ประโยชน์ .. ขณะที่ วิชา มหาคุณ อดีต ป.ป.ช. ในฐานะ กมธ. เสียงข้างน้อย ซัดแบบไม่ไว้หน้าว่า การใช้อำนาจเกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ .. ยิ่งมี “ความไม่บริสุทธิ์ใจ” จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง ข้อมูลหลุดออกไปอาจเป็นเครื่องมือนำไปใช้ “แบล็กเมล์” ทางการเมือง .. ด้าน ภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อยอีกคน แฉเบื้องหลังด้วยว่า การพิจารณายัดอำนาจดักฟังในชั้น กมธ. ใช้เวลาสั้นๆ แค่ไม่เกิน 1 ชั่วโมง พ่วงอำนาจ “อำพราง - สะกดรอย” มาด้วย .. ราวกับมี “ใบสั่ง” ทำให้ กมธ. เสียงข้างมาก เห็นพ้องต้องกันราวกับนัดแนะกันมา .. งานนี้ผู้ต้องสงสัยที่ออก “ใบสั่ง” มา ก็หนีไม่พ้น “บิ๊ก คสช.” ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน .. ด้วยว่า กมธ. เสียงข้างมากคนสำคัญ ก็ชื่อ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่ไม่ใช่ใครที่ไหนน้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. นั่นเอง .. คงเป็นเพราะเดิมพันที่สูง จึงทำให้ คสช. กล้าเดินหมากที่สุ่มเสี่ยงขนาดนี้ นอกจากส่ง “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ มายึด ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการถูกเช็กบิลภายหลังแล้ว .. ก็ยังมีธงที่จะติดอาวุธให้ ป.ป.ช. กลายมาเป็น “เครื่องมือทางการเมือง” ในการห้ำหั่นกับฝ่ายการเมือง หรือขั้วตรงข้าม ในอนาคตอีกด้วย .. การไม่ฟังอีร้าค่าอีลม กล้าเอาเรื่อง “ละเมิดสิทธิ” มาเป็นเครื่องมือ ตลอดจนการต่อวีซ่า ป.ป.ช. แบบค้านสายตา ฮุบ “องค์กรปราบโกง” ที่เคยเป็นความหวังของประชาชน มาใช้เป็น “เครื่องมือการเมือง” ของตัวเองเช่นนี้ .. จนน่ากลัวว่า หมากยึด พร้อมติดอาวุธให้ ป.ป.ช. งวดนี้ จะกลาย เป็น “ตัวเร่ง” ให้ คสช. ต้องพังเร็วกว่าที่คาด และอาจจะพังพาบกันทั้ง “องคาพยพ คสช.” จนอาจไม่มีโอกาสได้เห็น “พรรคทหาร” ที่อุตส่าห์นัดแนะปั้นกันอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้.
** วิบากกรรมไทยแลนด์!! แฉเล่ห์ “รัฐบาลทหาร” ไม่ต่าง “ระบอบแม้ว” จ้องขายชาติ หมกเม็ดนิยามใหม่ “รัฐวิสาหกิจ” ในกฎหมายสำคัญ ใช้อภินิหารบิดวิธีการงบประมาณเพี้ยนไปหมด เมินวาระปราบโกงเข้มข้น อุ้ม “รัฐวิสาหกิจ” พ้นกฎหมายตรวจสอบอีกต่างหาก
อะไรกันนักกันหนา ประเทศไทย .. พ้น “เผด็จการรัฐสภา” สมัยสองศรีพี่น้อง “ทักษิณ - ยิ่งลักษณ์” มาได้ ก็ต้องมาเจอเล่ห์เหลี่ยม “รัฐบาลทหาร” ที่หมุดหมายไม่ต่างกันเสียอีก .. หมุดหมายที่ว่าคือ การเร่ขาย “รัฐวิสาหกิจ” เปิดช่องให้ทั้ง “ทุนนอก - ทุนไทย” เข้ามาสวาปาม .. ก็ล่าสุด คำนูณ สิทธิสมาน อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังเกาะติด “เล่ห์เพทุบาย” ผ่านการตรากฎหมายหลายฉบับในยุค คสช.เรืองอำนาจ .. เกิดไป “สะกิดใจ” การปรับเปลี่ยนนิยามคำว่า “รัฐวิสาหกิจ” ที่ทำให้ “ความเป็นรัฐเจือจางลง” ในชั้นของบรรดาบริษัทลูกทั้งหลาย .. เจือจางลงไม่ว่า ยังมีแนวโน้มอาศัยจังหวะร่างกฎหมายใหม่หลายฉบับ เปลี่ยนนิยามใหม่ตัด “บริษัทลูก” ออกไปจากความเป็นรัฐวิสาหกิจแบบเหมารวมทั้งหมด สุดท้ายก็อาจหลุดพ้นความเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ไปจนได้ .. แถมยังมีข้อสังเกตน่าสนใจว่า นิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ในกฎหมายฉบับต่างๆ มีข้อความที่ส่อจะไม่เหมือนกัน .. อย่างน้อยๆ ใน ร่าง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. ... .. หากเปลี่ยนนิยามรัฐวิสาหกิจใหม่ตามที่ “คำนูณ” ตั้งข้อสังเกตจริง .. ผลที่ได้คือ การหลุดออกจากการกำกับดูแลและตรวจสอบโดยกลไกรัฐของบริษัทชั้นลูกลงไป .. ทั้งการไม่เป็น “หน่วยรับตรวจ” ตามกฎหมายการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. ตรวจสอบไม่ได้ .. และยังไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ที่ว่ากันว่า “เข้มข้น” เหลือเกินด้วย .. แล้วจะยังก้าวพ้นกรอบของกฎหมายของ ปปท. รวมไปถึงกฎหมาย ป.ป.ช. ใหม่ที่กำลังทำคลอดอยู่ ที่แม้ ป.ป.ช. จะมี “อำนาจล้นฟ้า” แต่กลับไม่มีปัญญาเข้ามาตรวจสอบ “บริษัทลูก” ของรัฐวิสาหกิจต่างๆได้ .. ต้องยกนิ้วให้เหล่า “เนติบริกร” ที่บิดซะกฎหมายที่ “บรมครูการเงินการคลังของไทย” วางรากฐานไว้ตั้งแต่ยุคปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศได้แบบสุดแนบเนียน .. ทะลุกลางปล้องวาระปราบโกงเข้มข้น อุ้ม “รัฐวิสาหกิจ” พ้นกฎหมายตรวจสอบไปแบบหน้าตาเฉย ยิ่งกว่า “ปล้นกลางแดด” สมัย “ระบอบแม้ว” เสียอีก.
**อาถรรพ์เมล์ NGV!! จับพิรุธ “บอร์ด ขสมก.” โหวตอนุมัติซื้อจาก “กลุ่ม ช ทวี” แบบไม่เอกฉันท์ วิจารณ์แซ่ดเพิ่งมีปม Cash box 1.6 พันล้าน แถมยังส่งมอบงานให้ บขส. ดันมาคง้าโครงการสำคัญงบประมาณหลายพันล้านได้หน้าตาเฉย
ไปโดนอาถรรพ์ตัวไหนมาไม่รู้ .. ป่านนี้โครงการอภิมหากาพย์ “รถเมล์ NGV” ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ตั้งแท่นมาตั้งแต่ปีมะโว้ ยังไม่มีทีท่าจะสำเร็จ .. กระทั่งในยุค “รัฐบาลลายพราง” ก็ตั้งเรื่องประมูลแล้วประมูลอีก 6 - 7 หน ไม่สำเร็จซักกะที .. ล่าสุด เริ่มมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เมื่อ ขสมก. ทุบโต๊ะใช้วิธีประมูล โดย “การคัดเลือก” ก่อนจะได้ “กลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (Consortium SCN-CHO)” ซึ่งมี บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ร่วมกับ บริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCN เป็นผู้ชนะในการประมูล ในฐานะที่ยื่นซองแค่รายเดียว สำหรับโครงการรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน ราคากลาง 4,020 ล้านบาท ก่อน
เจรจาต่อรองหลายต่อหลายรอบจนได้ข้อยุติที่วงเงิน 4,221 ล้านบาท เกินจากราคากลางประมาณ 5% หรือตกอยู่ที่คันละประมาณ 8.6 ล้านบาท รวมค่าบำรุงรักษา .. ท่ามกลางคำถามว่าเดิมโครงการรถเมล์ NGV ตั้งมามากกว่า 10 ปี จนป่านนี้เทคโนโลยีล้ำสมัยไปไหนต่อไหนแล้ว ทั้งระบบไฟฟ้า หรือระบบไฮบริด แต่ทำไมถึงยังจับจดอยู่กับ “เมล์ NGV” ที่หลายประเทศจ้องจะโละอยู่ได้ .. แต่เรื่องคงไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะชัยชนะของกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ยุติลงแบบงงๆ ท่ามกลางกระแสข่าว ว่า “บอร์ด - ผู้บริหาร ขสมก.” เร่งรีบกันเป็นพิเศษ .. ใช่ว่าจะสนองนโยบาย “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศให้ปิดโครงการให้ได้โดยเร็ว เพื่อให้ได้รถมาไว้บริการช่วงเปิดเทอมปีหน้าหรอก .. แต่ดันมีคิวแทรกจาก “รัฐวิสาหกิจจีน” ที่เสนอซื้อขายแบบ “จีทูจี” จัดหนักโปรโมชั่น 1 แถม 1 ในวงเงินราคาต่ำกว่าเกือบพันล้านเข้ามา .. เกิดไปเตะตา “บิ๊กรัฐบาล” เข้า ก็เกรตงว่า “เบี้ยใบ้รายทาง” ที่หวังจะเก็บเกี่ยวกัน ก็คงแห้ว .. ช่วงนี้ “บอร์ด ขสมก.” นำโดย ณัฐชาติ จารุจินดา ก็เลยจัดประชุมกันแบบถี่ยิบ เพื่อลงมติอนุมัติการจัดซื้อรถกับทาง SCN-CHO ให้สำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งแม้จะลงมติผ่านไปได้ แต่ก็ผ่านไปแบบ “ทุลักทุเล” ไม่น้อย .. ด้วยข่าวล่ามาช้าหน่อยระบุว่า “บอร์ด ขสมก.” ต้องมีมติถึง 2 ครั้ง 2 คราด้วยกัน โดยมติอนุมัติให้จัดซื้อครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ก่อนที่จะนำเข้าบอร์ด ขสมก. เพื่อรับรองมติซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา .. น่าสนใจว่าเหตุใด มติจึงออกมาอย่าง “ไม่เป็นเอกฉันท์” หรืออาจจะใช้เฉือนกันเฉียดฉิวเลยก็ว่าได้ สะท้อนว่า “บอร์ดเสียงข้างน้อย” มีข้อกังวลประการใดหรือไม่ .. เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็ผลงานของ บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ที่เพิ่มมีปัญหาในโครงการ เครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) ที่นำร่องติดตั้งบนรถเมล์ ขสมก. มูลค่า 1,665 ล้านบาท ที่ติดตั้งได้แปบเดียว ก็มีแต่ปัญหา กระทั่งบอร์ด ขสมก.ต้องมีคำสั่งให้ยุติการติดตั้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว .. รวมทั้งโครงการปรับปรุงรถโดยสารในส่วนของการปรับปรุงแชสซีส์ และครอบตัวถังรถโดยสารใหม่ จำนวน 57 คัน วงเงิน 114 ล้านบาท ซึ่ง CHO ไม่สามารถส่งมอบให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้อีกต่างหาก .. ผลงานเป็นที่โจษขานขนาดนี้ ดันมาชนะประมูลโครงการสำคัญมูลค่าหลายพันล้านไปได้เฉยเลย .. รัฐมนตรีใหม่ ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคม น่าจะลงไปดูหน่อยนะขอรับ
ช.ชฎา