xs
xsm
sm
md
lg

เหลือ 11 ล้านคน! “สภาพัฒน์” เปิดแผนจัดทำนโยบายช่วยเหลือคนจน ผุดเครื่องมือใหม่ไม่เน้นชี้วัดตัวเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เร่งด่วน! “สภาพัฒน์” เปิดแผนจัดทำ “นโยบายช่วยเหลือคนจน” ผุดใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบ ชู “ดัชนีความก้าวหน้าคน” เพิ่มตัวชี้วัดมิติยากจน-ไม่เน้นตัวเงิน-สะท้อนโอกาสทางสังคม-เข้าถึงบริการของภาครัฐ เปิดตัวเลขความยากจน จากตัวอย่าง 4.5 หมื่นครัวเรือน-ประชากร 125,346 คน หากใช้เกณฑ์เดิมวัด ไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.04 ย้ำ 30 ปี “คนจน-ผู้ที่เกือบจน” ลดเหลือ 11.6 ล้านคนในปี 59

วันนี้ (12 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า จากรายงานการศึกษาของธนาคารโลก เรื่อง Inclusive Growths Report “Riding the Wave : An East Asian Miracle for the 21 Century” เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทย จัดอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้ว

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงว่า รายงานธนาคารโลกฉบับนี้เป็นการเสนอโมเดลใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำ

“รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 20 ปี สามารถลดความยากจนได้ต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่อยู่ใกล้เส้นความยากจน 11 ล้านคน ลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เหลือจำนวน 7 ล้านคน แต่ยังมีประชากรฐานรากประมาณ 29 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 40 ของประชากร ต้องได้รับการดูแลด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร แรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรัฐบาลจะใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มรายได้ และเพิ่มการจ้างงาน ขณะเดียวกัน เพิ่มหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน คู่ขนานกับการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติรองรับผู้สูงอายุ”

ตัวเลขความยากจนในไทย จากตัวอย่าง 4.5 หมื่นครัวเรือน-ประชากร 125,346 คน

ล่าสุด ดร.ปรเมธี ได้เปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขผลสำรวจปัญหาความยากจนในประเทศไทย ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจ ดังนี้ รัฐบาลและธนาคารโลกใช้เส้นความยากจนที่คำนวณโดยหลักวิชาการในการพิจารณาถึงจำนวนคนจน โดยที่ธนาคารโลกใช้เกณฑ์ 1.9 ดอลลาร์ สรอ.ต่อคนต่อวัน (หรือประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน) และประเทศไทยใช้เกณฑ์ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน มีวิธีการคำนวณเส้นความยากจนเพื่อวัดระดับความยากจนใช้หลักแนวคิดวิชาการและประเภทของข้อมูลที่เป็นสากล และประเทศต่างๆ ใช้ในแนวทางเดียวกัน คือ การยึดหลักรายได้หรือรายจ่ายขั้นต่ำสุดที่เพียงพอต่อการดำรงชีพของประชาชนแต่ละคน ควบคู่ไปกับการใช้โครงสร้างของครัวเรือน ได้แก่ สมาชิก เพศ และวัย และพื้นที่ ในการพิจารณาถึงองค์ประกอบการใช้จ่ายด้วย

ทั้งนี้ ยังกำหนดฐานข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณเส้นความยากจนนั้น ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-economic survey) ซึ่งเป็นการสำรวจสถานะความเป็นอยู่ของครัวเรือนทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และอื่นๆ ที่ได้มีการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลต่อเนื่องทุกปี และเป็นการสำรวจที่มีการเก็บข้อมูลตัวอย่างขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีตัวอย่างการสำรวจประมาณ 45,000 ครัวเรือน และประชากร 125,346 คน

“ธนาคารโลกได้ใช้เส้นความยากจนที่ระดับ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน หรือประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน ทั้งนี้ เกณฑ์ของธนาคารโลกดังกล่าวอยู่บนฐานที่เทียบกับความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ (PPP) ปี 2554 เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบความยากจนของนานาประเทศได้ และหากใช้เกณฑ์การวัดดังกล่าวสัดส่วนความยากจนของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.04 สำหรับประเทศไทยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนที่ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน (ปี 2559) และสัดส่วนความยากจนเท่ากับร้อยละ 8.6”

เพิ่มตัวชี้วัดมิติยากจน-ไม่เน้นตัวเงิน-สะท้อนโอกาสทางสังคม-เข้าถึงบริการภาครัฐ

ดร.ปรเมธีกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าการที่ประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศให้สามารถสะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงได้นั้น จำเป็นต้องใช้ตัวชี้วัดจากหลายด้านมาประกอบกัน ดังนั้น นอกจากการใช้เส้นความยากจนซึ่งเป็นการวัดในรูปแบบตัวเงิน (รายจ่าย) ในการระบุจำนวนคนจนแล้วรัฐบาล

“โดย สศช.ยังได้พิจารณาตัวชี้วัดสถานการณ์ความยากจนในด้านมิติอื่นที่มิได้อยู่ในรูปแบบของตัวเงินแต่สะท้อนการมีโอกาสทางสังคมและการเข้าถึงบริการของภาครัฐ มาร่วมในการวัดด้วย ได้แก่ “ดัชนีความก้าวหน้าคน” ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเข้าถึงโอกาสทางสังคมและการเข้าถึงบริการภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม คมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความจนเงิน จนโอกาส และสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต ในการจัดทำนโยบายในแก้ปัญหาความยากจนและช่วยเหลือคนจน”

ดังนั้น ในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการช่วยเหลือคนจน จึงใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบกัน โดยเส้นความยากจนจะช่วยบ่งบอกความยากจนที่ว่ามีผู้ที่ยากจนเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งรัฐบาลจะนำข้อมูลอื่นที่สะท้อนการดำรงชีพในมิติของการมีโอกาสและการเข้าถึงบริการของประชาชนมาพิจารณาประกอบด้วย ในขณะเดียวกันข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการภาครัฐจะถูกกนำมาใช้ประกอบเพื่อการระบุ ตรวจสอบ ติดตาม ในการที่จะออกแบบเครื่องมือการให้ความช่วยเหลือ (มาตรการ) ได้สอดคล้อง / ตรงกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่มาลงทะเบียน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกลุ่มได้ด้วย

สภาพัฒน์ย้ำ 30 ปี “คนจน-ผู้ที่เกือบจน” ลดเหลือ 11.6 ล้านคนในปี 59

สำหรับข้อเท็จจริงสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย ในปัจจุบันประเทศไทยใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการ คือ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงมาก โดยจำนวนคนจนได้ลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 65.2 เป็นเพียงร้อยละ 8.6 ในปี 2559

เมื่อพิจารณารวม “คนจน” และ “ผู้ที่เกือบจน” พบว่ามีแนวโน้มลดลงมากจาก 39.2 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 11.6 ล้านคนในปี 2559 โดยความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 12.96 12.35 และ 9.83 ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ และจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรกในปี 2559 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงที่สุด ดังนี้ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬิสินธุ์ นครพนม ชัยนาท ตาก บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ น่าน ตามลำดับ

(รายละเอียดสามารถดูได้จากเอกสาร “รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย 2559” http://social.nesdb.go.th/social/)
กำลังโหลดความคิดเห็น