xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามกังวลแรงงานฝีมือไหลออกเหตุค่าแรงอยู่อันดับ 8 ในอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แฟ้มภาพเอเอฟพีเดือนต.ค. 2558 แรงงานชาวเวียดนามทำงานอยู่ในสายการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในโรงงานที่ตั้งอยู่ชานกรุงฮานอย ทางการเวียดนามระบุว่าด้วยอัตราค่าแรงของประเทศต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยถูกจัดอยู่ในอันดับ 8 ในอาเซียน คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้แรงงานฝีมือคุณภาพสูงของประเทศย้ายไปทำงานในประเทศที่ค่าแรงสูงกว่ามากขึ้น และมากกว่าที่แรงงานจะไหลเข้าประเทศอีกด้วย. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.</font></b>

เวียดนามเน็ต - การแข่งขันแย่งชิงแรงงานคุณภาพสูงจะยิ่งดุเดือดมากขึ้นนับตั้งแต่ตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และด้วยค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำของเวียดนาม ที่ถูกจัดอยู่ในอันดับ 8 ในอาเซียน แนวโน้มของการเคลื่อนย้ายแรงงานจากเวียดนามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาจเกิดขึ้น ตามการระบุของรองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ของกระทรวงแรงงาน ผู้ทุพพลภาพ และกิจการสังคม ของเวียดนาม

ห่า ถิ มีง ดึ๊ก รองผู้อำนวยการ กล่าวว่า สำหรับแรงงานมีฝีมือ และมีคุณภาพสูงนั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานในหมู่ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้เกิดขึ้นแล้ว

“แรงงานคุณภาพต่ำจะประสบต่อความกดดันมากยิ่งขึ้น เพราะคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของเรายังไม่ดีนัก ผมเชื่อว่าการไหลออกของแรงงานจากเวียดนามไปยังชาติอื่นๆ ในอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าการไหลเข้าเพราะค่าแรงของเวียดนามอยู่ในอันดับ 8 ในอาเซียน” รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าว

ก่อนหน้านี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามประกาศว่า รายได้เฉลี่ยของแรงงานชาวเวียดนามในปี 2558 อยู่ที่ 79.3 ล้านด่งต่อคน เท่ากับ 3,657 ดอลลาร์ (ประมาณ 130,000 บาท) แม้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2557 และช่องว่างเมื่อเทียบกับประเทศอื่นจะแคบลงก็ตาม แต่ค่าแรงของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับต่ำ

และเมื่อเทียบกันด้วยอำนาจซื้อ ในปี 2548 ผลิตภาพแรงงานของสิงคโปร์สูงกว่าเวียดนาม 29.2 เท่า แต่ช่องว่างลดลงเหลือ 18 เท่าในปี 2556 ส่วนมาเลเซียช่องว่างลดลงจาก 10.6 เท่า เหลือ 6.6 เท่า เมื่อเทียบกับไทย ช่องว่างจาก 4.6 เท่า ลดลงเหลือ 2.7 เท่า ขณะที่ฟิลิปปินส์จาก 3.1 เท่า เหลือ 1.8 เท่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันที่จีดีพีต่อคนทำงาน ช่องว่างระหว่างเวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังคงกว้าง โดยเฉพาะสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นจาก 62,052 ดอลลาร์ ในปี 2537 เป็น 92,632 ดอลลาร์ ส่วนมาเลเซีย เพิ่มขึ้นจาก 21,142 ดอลลาร์ เป็น 30,317 ดอลลาร์ ไทย เพิ่มขึ้นจาก 7,922 ดอลลาร์ เป็น 9,311 ดอลลาร์ ขณะที่เวียดนาม มีจีดีพีต่อคนทำงานเกือบ 4,000 ดอลลาร์ในปี 2558

ผู้อำนวยการกรมค่าแรงของกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผลิตภาพแรงงานต่ำยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับแรงงานเวียดนาม เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตั้งขึ้น แรงงานคุณภาพสูงจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเคลื่อนย้ายกันมากขึ้น และจะแข่งขันโดยตรงกับแรงงานเวียดนาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น