สภาพัฒน์ เผยเวิลด์แบงก์ จัดไทยอยู่กลุ่มเริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่ง ระบุรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 20 ปี และสามารถลดความยากจนได้ต่อเนื่อง
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ชี้แจงเกี่ยวกับรายงานการศึกษาของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เรื่อง Inclusive Growths Report “Riding the Wave : An East Asian Miracle for the 21 Century” ที่ระบุว่า ประเทศไทยจัดอยู่กลุ่มเดียวกับมาเลเซีย ซึ่งเริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่งคั่งแล้ว
รายงานธนาคารโลกฉบับนี้เป็นการเสนอโมเดลใหม่ในการแก้ปัญหาความยากจนด้วยการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลที่บรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำ
“รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความยากจนมาตลอดระยะเวลา 20 ปี สามารถลดความยากจนได้ต่อเนื่อง จำนวนประชากรที่อยู่ใกล้เส้นความยากจน 11 ล้านคน ลดลงมาต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เหลือจำนวน 7 ล้านคน แต่ยังมีประชากรฐานราก ประมาณ 29 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 40 ของประชากร ต้องได้รับการดูแลด้วยการเพิ่มรายได้ ซึ่งประกอบด้วยเกษตรกร แรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรัฐบาลจะใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เพิ่มรายได้ และเพิ่มการจ้างงาน ขณะเดียวกัน เพิ่มหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชน คู่ขนานกับการสนับสนุนให้ประชาชนออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติรองรับผู้สูงอายุ”
นายปรเมธี กล่าวว่า สศช. ยังได้พิจารณาตัวชี้วัดสถานการณ์ความยากจนในด้านมิติอื่นที่มิได้อยู่ในรูปแบบของตัวเงิน แต่สะท้อนการมีโอกาสทางสังคม และการเข้าถึงบริการของภาครัฐ มาร่วมในการวัดด้วย ได้แก่ “ดัชนีความก้าวหน้าคน” ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเข้าถึงโอกาสทางสังคม และการเข้าถึงบริการภาครัฐในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพ การศึกษา ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม และคมนาคมและการสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความจนเงิน จนโอกาส และสภาพแวดล้อมการดำเนินชีวิต ในการจัดทำนโยบายในแก้ปัญหาความยากจน และช่วยเหลือคนจน
ดังนั้น ในการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและการช่วยเหลือคนจน จึงใช้เครื่องมือหลายอย่างประกอบกัน โดยเส้นความยากจนจะช่วยบ่งบอกความยากจนที่ว่ามีผู้ที่ยากจนเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด ซึ่งรัฐบาลจะนำข้อมูลอื่นที่สะท้อนการดำรงชีพในมิติของการมีโอกาสและการเข้าถึงบริการของประชาชนมาพิจารณาประกอบด้วย ขณะเดียวกัน ข้อมูลการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการภาครัฐ จะถูกกนำมาใช้ประกอบเพื่อการระบุ ตรวจสอบ ติดตาม ในการที่จะออกแบบเครื่องมือการให้ความช่วยเหลือ (มาตรการ) ได้สอดคล้อง/ตรงกับลักษณะของกลุ่มเป้าหมายที่มาลงทะเบียน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงกลุ่มได้ด้ว
สำหรับข้อเท็จจริงสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย ในปัจจุบันใช้เส้นความยากจนที่เป็นทางการคือ 2,667 บาทต่อคนต่อเดือน หากมองย้อนไปในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาความยากจนในภาพรวมของประเทศไทยลดลงมาก โดยจำนวนคนจนได้ลดลงประมาณ 28 ล้านคนในช่วงเวลาดังกล่าว จากจำนวนผู้ยากจน 34.1 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 5.8 ล้านคนในปี 2559 สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 65.2 เป็นเพียงร้อยละ 8.6 ในปี 2559
เมื่อพิจารณารวม “คนจน” และ “ผู้ที่เกือบจน” พบว่ามีแนวโน้มลดลงมากจาก 39.2 ล้านคนในปี 2531 เหลือเพียง 11.6 ล้านคนในปี 2559 โดยความยากจนยังกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ มีสัดส่วนร้อยละ 12.96, 12.35 และ 9.83 ของประชากรในแต่ละภาคตามลำดับ และจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรกในปี 2559 โดยเรียงลำดับจากสัดส่วนคนจนสูงที่สุดดังนี้ แม่ฮ่องสอน, นราธิวาส, ปัตตานี, กาฬิสินธุ์, นครพนม, ชัยนาท, ตาก, บุรีรัมย์, อำนาจเจริญ, และน่าน ตามลำดับ