xs
xsm
sm
md
lg

ดีอี เร่งขยายเครือข่าย “เน็ตประชารัฐ” พร้อมอบรมชาวบ้าน ใช้เน็ตสร้างรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงดีอี ขยายการติดตั้ง “เน็ตประชารัฐ” ใกล้ครบ 24,700 หมู่บ้าน เป้าหมายครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเร่งสร้างการรับรู้สู่ประชาชน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, ด้านการศึกษา, ด้านสาธารณสุข และด้านบริการภาครัฐ สร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยระบบซื้อขายออนไลน์ เพื่อความปลอดภัยในธุรกรรมทางการเงิน และการเรียนการสอนทางออนไลน์ เพื่อภูมิปัญญาในพื้นที่ห่างไกลในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ “เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”



พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายของรัฐบาลให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “เรื่องเร่งด่วนสำคัญอันดับแรกของรัฐบาล คือ การวางรากฐานโครงสร้างสู่ “เศรษฐกิจ 4.0” โดยการวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศ ให้ครอบคลุมหมู่บ้านทั่วประเทศ รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านบริการภาครัฐ รวมถึงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เติบโตจากการใช้ประโยชน์ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพื่อประกอบอาชีพ การเรียนรู้ ค้าขาย ทำมาหากิน ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ไปจนถึงเพิ่มช่องทางการทำธุรกิจ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดเวลา ลดข้อจำกัด อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพ นำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ประเทศไทยจำเป็นจักต้องมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะเป็นพลังขับเคลื่อนพร้อม ๆ กัน ผ่านกลไก “ประชารัฐ”

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) “การดำเนินโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงการเน็ตประชารัฐ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ให้ครอบคลุมหมู่บ้าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2560 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง ความยาวรวมกว่า 131,320 กิโลเมตร ประชาชนสามารถเข้าถึง และใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ถึงจำนวนประมาณ 370,000 ราย รวมถึงการจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก และเหมาะสมหมู่บ้านละ 1 จุด ที่ระดับความเร็วรับ/ส่ง 30 Mbps/10 Mbps

ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการเน็ตประชารัฐ ได้ติดตั้งขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแล้ว จำนวน 19,965 หมู่บ้าน (ณ เดือนตุลาคม 2560) คิดเป็นร้อยละ 80.83 แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 13,468 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 10,689 หมู่บ้าน, ภาคเหนือ จำนวน 4,416 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 3,284 หมู่บ้าน, ภาคใต้ จำนวน 3,097 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 2,942 หมู่บ้าน, ภาคกลาง จำนวน 2,084 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 1,845 หมู่บ้าน, ภาคตะวันออก จำนวน 1,554 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 1,148 หมู่บ้าน, กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 81 หมู่บ้าน ติดตั้งแล้วเสร็จ 38 หมู่บ้าน

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ ให้เต็มศักยภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถใช้ทรัพยากรในชุมชนสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ อย่างมั่นคง เพื่อความยั่งยืนตามนโยบายประเทศไทย 4.0 กระทรวงดิจิทัล ได้จัดให้มีการอบรมเพื่อให้ชุมชน และประชาชน เข้าใจถึงวิธีการใช้สื่อ social media นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสุขภาพ

เบื้องต้น ทีโอทีดำเนินการจัดอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในหมู่บ้านตามโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งได้จัดกิจกรรม Showcase เพื่อส่งต่อความรู้ให้กับชุมชน รวมถึงได้จัดสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองให้แก่ผู้เข้าอบรมทุกคน ประกอบด้วย 5 หลักสูตร คือ อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น, Google App for Work, Open Shop on Social Network, การใช้ YouTube เบื้องต้น และรู้ทันภัยไซเบอร์ ซึ่งนำมาเผยแพร่บน www.netpracharat.com เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้โดยง่าย

เชื่อมั่นว่าโครงการเน็ตประชารัฐ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนำประเทศไทยสู่ประเทศดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ สร้างฐานรากที่เข้มแข็งให้กับทุกภูมิภาค เหนือ-ใต้-ออก-อีสาน-กลาง ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วไทย ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

กำลังโหลดความคิดเห็น