xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไฟเขียวกฎหมาย ส.ส.-ส.ว. “มีชัย” ยันระบบเบอร์เดียวไม่แปลก สมาชิกหวั่นฮั้วเลือก ส.ว.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช.มีมติรับหลักการร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.-การได้มาซึ่ง ส.ว. ประธาน กรธ.ย้ำเป้าหมายเลือกตั้งโปร่งใส เพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ระบบเบอร์เดียวไม่แปลกไปจากประเทศอื่น ด้านสมาชิกห่วงปมเลือกไขว้ ส.ว. หวั่นฮั้วกันง่าย

วันนี้ (30 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แห่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวถึงภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯว่า ในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ เป็นครั้งแรกที่กรธ.ได้เชิญเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯร่วมกับ กรธ.ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ กกต.ที่มาร่วมประชุม กรธ.ได้ช่วยตรวจดูความถูกต้องของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ และนำไปเสนอต่อ กกต.ทั้ง 5 คน และให้ทำความเห็นกลับมายัง กรธ. ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กรธ.จึงได้มีบัญญัติหลักการสำคัญหลายประการเข้าไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เช่น การกำหนดให้เบอร์ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ซ้ำกัน เป็นต้น สาเหตุที่กำหนดไว้เช่นนี้ ด้วยกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้คะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคะแนนเสียงที่มีความสำคัญและผู้เลือกตั้งต้องดูทั้งพรรคและบุคคล เราจึงคิดว่าการที่จะใช้เอาความสะดวกสบายให้ทุกพรรคมีเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ มันจะทำให้ขาดตกบกพร่องในเรื่องการพิจารณาตัวบุคคลผู้สมัครแต่ละเขต เราจึงกำหนดให้แต่ละเขตมีเบอร์ของตัวเอง

“ฟังดูเหมือนกับว่าเราจะกลับไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่ในอดีตที่ผ่านมาก็ทำอย่างนี้ และในแต่ละประเทศก็น้อยมากที่ใช้เบอร์เดียวกัน บางประเทศไม่มีเบอร์ด้วยซ้ำ ให้เขียนชื่อเอาเอง จึงไม่ได้ผิดแผกแปลกต่างไปจากชาวบ้านชาวเมืองเท่าไหร่ แต่ข้อสำคัญคือจะทำให้ต้องเลือกคนที่คนในพื้นที่รับรู้รับเห็นพอใจ ที่สำคัญกติกาการเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการออกเสียงมากขึ้น คือ การให้ประชาชนสามารถลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกผู้สมัครคนใด เดิมไม่เคยนำเอาคะแนนส่วนนี้มานับ แต่คราวนี้กำหนดให้นำคะแนนนั้นมานับแล้วประกาศให้ประชาชนทราบ และถ้าในเขตเลือกตั้งใดผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่มีใครได้คะแนนเกินกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในเขตนั้นจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง และจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งแทนคราวนั้น ต้องกลับไปสร้างคุณงามความดีกันใหม่อีก 4 ปีค่อยกลับมาสมัครใหม่”

ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ แต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงถ้อยคำในร่างกฎหมายเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริต อาทิ นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล สมาชิก สนช.ในฐานะตัวแทนของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า คณะกรรมการฯได้พิจารณาภาพรวมของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯแล้วได้มีข้อสังเกต เช่น กรณีมาตรา 15 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯว่าด้วยการให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถมติไม่น้อย 2 ใน 3 เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้หากมีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จนเป็นเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่าควรมีมาตรการในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของ กกต.เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องกำหนดนิยามที่ชัดเจนว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้มีขอบเขตอย่างไรบ้าง หรือมาตรา 75 ที่กำหนดห้ามเกี่ยวกับการกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้สมัครรับเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนน คณะกรรมการฯมีความเห็นว่าควรกำหนดความผิดให้ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงควรเอาผิดต่อ ส.ส.หรือส.ว.ที่ใช้งบประมาณของประเทศเพื่อจูงใจให้ประชาชนเลือกตนเองในครั้งต่อไปด้วย

ด้านนายมีชัยชี้แจงว่า ในภาพรวมของร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ สนช.พิจารณา ส่วนใหญ่ กรธ.ได้แก้ไขตามข้อเสนอของ สนช.มาก่อนแล้ว เช่น มาตรา 75 มีการปรับปรุงถ้อยคำให้รวมไปถึงบุคคลอื่นที่กระทำความผิดด้วย ไม่ใช่เฉพาะผู้สมัครแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนมาตรา 15 นั้นในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในชั้นของ กรธ.ก็ได้เล็งเห็นถึงการกำหนดนิยามเช่นกัน แต่เห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดนิยามลงไปว่าจะให้คำว่าเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกได้จะให้ครอบคลุมเรื่องอะไรบ้าง เพราะเหตุจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากมีประเด็นที่จำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำให้มีความชัดเจนก็สามารถดำเนินการในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการวิสามัญของ สนช.ต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์รับหลักการวาระ 1 ด้วยคะแนน 189 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 33 คน กำหนดเวลาในการพิจารณาให้เสร็จภายใน 58วัน

ต่อมาที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. โดยนายมีชัยชี้แจงว่าสาระสำคัญที่สุด คือ การแบ่งกลุ่มบุคคลที่จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกและวิธีการเลือก ทั้ง 2 เรื่องได้กำหนดเป็นแนวทางในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งในชั้นการพิจารณาสมมติไว้ 20 กลุ่ม เพราะวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการเลือก ส.ว.นั้น ต้องการให้ประชาชนทุกอาชีพ และทั่วประเทศ มีส่วนในการใช้สิทธิถ้วนหน้ากัน ให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่อาชีพใด สามารถมีสิทธิเข้าสมัครรับเลือกในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เสมอ ส่วนที่เป็นห่วงเรื่องความไม่เป็นธรรม เพราะประชากรแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.จะมีกลุ่มคนที่มีสาขาอาชีพที่เด่นดังจำนวนมาก แต่หลักการการมี ส.ว.คือ การเป็นตัวแทนประชาชนทั้งประเทศ ตามสาขาหรือคุณลักษณะที่สังกัดอยู่ ไม่ใช่เอาตัวจังหวัดเป็นเกณฑ์ หากดูคุณสมบัติจะเห็นชัดว่า การกำหนดคุณลักษณะเกี่ยวกับสถานที่ กรธ.ได้กำหนดไว้หลายอย่าง ดังนั้น ผู้สมัครแต่ละคนสามารถเลือกที่ไปลงสมัครได้หลายแห่ง สำคัญที่สุดขอให้คงหลักการว่าทุกคนที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องลงสมัครได้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ส่วนวิธีการเลือกที่เป็นลักษณะการเลือกไขว้ เพื่อป้องกันการฮั้ว หากถ้า สนช.มีอะไรที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเพื่อป้องกันเล่ห์เพทุบายได้ ทาง กรธ.ก็ยินดีรับฟัง

สำหรับการอภิปรายของสมาชิกส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงวิธีการเลือกไขว้ และการบล็อกโหวต เช่น นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช.กล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่ากรธ.พยายามร่างกฎหมายเพื่อให้ได้ ส.ว.ที่มีความรู้ ความสามารถ และทำงานตอบสนองได้ทุกสาขาอาชีพ ขจัดการซื้อเสียง แต่ข้อกังวลคือการเลือกตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ค่อนข้างสับสน และจะมีปัญหามาก แต่ละจังหวัดมีพื้นที่เล็กใหญ่ไม่เท่ากัน เราต้องยอมรับสภาพว่าพรรคการเมืองเขาคุมจังหวัด ทำให้กำหนดจังหวัดได้ จึงเกรงว่าสิ่งที่ กรธ.วางไว้จะไม่ได้ผลตามเจตนารมณ์เพราะบล็อกกันได้ ทั้งนี้ การแปรญัตติให้กฎหมายดังกล่าวสมบูรณ์ก็ยากที่สุด เพราะถึงอย่างไรระบบแบบนี้ต้องเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ แต่ตนอยากสะท้อนไปสู่ กรธ.ว่าทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหากรณีที่เราพยายามหนีปัญหาการซื้อเสียง การบล็อกโหวต และระบบนี้จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าระบบการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่

ด้านประธาน กรธ.ชี้แจงว่า ถ้าเราไม่มีความหวังที่จะทำสิ่งใหม่เดินไปข้างหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์สูงสุด บ้านเมืองคงจมปรักที่เดิม คงไม่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปประเทศ ไม่ต้องทำยุทธศาสตร์ สิ่งที่ทำวันนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ว่าคนไทยได้พัฒนาไปมากน้อยเพียงใด ถ้าคิดเพียงสิ่งที่เคยเป็นมา อาจจะเป็นอย่างที่สมาชิกพูด แต่นั่นแปลว่าคนไทยทั้งประเทศถูกซื้อได้หมดทุกคน ไม่ว่าจะใช้ระบบอะไรก็จะเกิดผลอย่างเดียวกัน แต่ความหวังคือคนไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น ยังมีสิ่งดีงามลึกๆ ในตัวคนไทย เพียงแต่เขามีทางออกมากน้อยแค่ไหน ตนคิดว่าความน่าเป็นห่วงก็มีอยู่ แต่กรธ.พยายามหาลู่ทางขจัดให้เหลือน้อยที่สุด และหากสนช.ช่วยคิดเพิ่มเติมให้ดีกว่าที่มีอยู่ก็จะเป็นพระคุณใหญ่หลวง

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา จำนวน 27 คน กำหนดเวลาพิจารณาของกรรมาธิการฯ 58 วัน



กำลังโหลดความคิดเห็น