ประธาน กรธ.แจง คนท้วงระบบคำนวณ ส.ส. สายเกินไป เหตุกำหนดในรัฐธรรมนูญแล้ว แนะจับตาช่องไม่เลือกใคร มีอิทธิฤทธิ์เปลี่ยน ส.ส.ได้ เชื่อไร้ปัญหาพรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ทัน
วันนี้ (19 พ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวก่อนประชุม กรธ.เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ถึงกรณีที่หลายพรรคการเมืองแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับระบบการคำนวณ ส.ส.แบบใหม่ว่าจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเด็ดขาด ส่งผลให้รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่มีเสถียรภาพว่า ไม่จริง เพราะถ้าประชาชนลงคะแนนให้พรรคใดมาก พรรคนั้นก็ได้คะแนนมาคำนวณ ส.ส.รายชื่อมาก เว้นแต่ได้คะแนนถล่มทลายจนเกินก็ไม่มีสิทธิ์ได้ ส.ส.รายชื่อเพิ่ม และที่วิเคราะห์ว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของ ส.ส.ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเรื่องคาดเดาเท่านั้น โดยวิธีการที่ออกแบบจะทำให้บัตรทุกบัตรมีความหมายนำมาใช้คำนวณ อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยนี้ช้าเกินไปแล้ว เนื่องจากระบบการคำนวณนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนการร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ในขณะนี้เพียงแต่เป็นการอธิบายวิธีการคำนวณ และการคำนวณก็ไม่ยาก โดยเจ้าหน้าที่ กกต.เป็นผู้คิด ใช้สูตรคำนวณแบบบัญญัติไตรยางค์ชั้นเดียว ขณะที่ประชาชนแค่เข้าใจว่าคำนวณพื้นฐานอย่างไรก็พอ เพราะไม่ต้องช่วย กกต.คำนวณ
ประธาน กรธ.กล่าวด้วยว่า รู้สึกแปลกใจว่าเขาไม่สนใจเรื่องการลงคะแนนไม่เลือกใครเลยหรือ เพราะการลงคะแนนไม่เลือกใครเลยในคราวนี้มีอิทธิฤทธิ์สูง หากในเขตเลือกตั้งใดมีคะแนนไม่เลือกมากกว่าก็จะไปหมดทั้งพวง ต้องเลือกตั้งใหม่คนเก่าสมัครไม่ได้ ทำให้เสียงของประชาชนเป็นเสียงที่เด็ดขาดจริงๆ พรรคการเมืองจึงต้องเลือกคนที่ถูกใจประชาชน ไม่ใช่ถูกใจเจ้าของพรรค ขณะที่ประชาชนจะดูทั้งพรรคและคน ถ้าไม่ชอบใจก็ไม่ลงคะแนนให้ใครเลย ทางเลือกของประชาชนจะมีมากกว่าในอดีต ส่วนปัญหาการปฏิบัติของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองกำหนดนั้น กรธ.ไม่มีสิทธิ์ที่จะเสนอแก้กฎหมาย หากเห็นว่าเป็นปัญหาและจำเป็นต้องแก้ มีสองช่องทางคือ กกต.เสนอไปยัง ครม.หรือ สนช.เข้าชื่อกัน และไม่คิดว่า กรธ.จะต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการเขียนกฎหมาย แต่ปัญหาอยู่ที่คำสั่ง คสช.ยังไม่ได้ปลดล็อก ถ้าทำไม่ทันตามกรอบเวลาก็ขอขยายได้ โดย กกต.พิจารณาได้ตามบททั่วไปที่ระบุว่าเพื่อประโยชน์ในความยุติธรรม แต่ถ้า กกต.ไม่ยอมใช้ก็ไปแก้กฎหมาย ทั้งนี้ยังเชื่อว่าทุกอย่างมีทางออก โดย คสช.ก็เคยหารือกันแต่ฝ่ายความมั่นคงต้องดูหลายด้าน และคงไม่ปล่อยให้เกิดปัญหาพรรคการเมืองส่งผู้สมัครไม่ทัน เพราะหากทำเช่นนั้นการเลือกตั้งก็เกิดไม่ได้