”สมชัย” ย้ำ พรรคต้องยึดคำตอบนายทะเบียนเป็นหลัก แนวทางปฏิบัติตาม ม.141 ชี้ หากต้องแก้กฎหมาย เลือกตั้งท้องถิ่นอาจช้ากว่าเลือกตั้งระดับชาติ ยันยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจจัดเลือกตั้งเดือนนี้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการที่ กกต. ตอบข้อหารือของพรรคการเมืองโดยยืนยันว่า การปฏิบัติตามมาตรา 141 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เนื่องจากเข้าข่ายดำเนินกิจการทางการเมือง ว่า ทาง กกต. ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่าทุกข้อตามมาตรา 141 ดังนั้น ก็ต้องยึดถือคำตอบที่เป็นทางการจากนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นหลัก เมื่อนายทะเบียนฯให้คำตอบแบบนี้ก็เท่ากับว่าไม่สามารถทำได้ และตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย กกต. ก็ต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย ก็คือ เมื่อครบเวลา 90 วันแล้ว พรรคการเมืองใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิก หรือ ยื่นเรื่องขอขยายเวลา กกต. ก็ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้พรรคนั้นสิ้นสภาพไป อย่างไรก็ตาม หากจะมีการแก้ไขกฎหมายก็ต้องดำเนินการแก้ไขให้เสร็จสิ้นก่อนวันที่ 5 มกราคม 2561 ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะหากให้ กกต.เป็นฝ่ายเสนอแก้ไขกฎหมาย
“เราเองก็คิดว่าไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดที่เชื่อมโยงมาตราต่างๆ ได้ดีเท่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เกรงว่า หากเสนอไปแล้วอาจทำให้กฎหมายที่แก้ไขไปนั้นขาดความรอบคอบได้ หากจะมีการแก้ไขกฎหมายก็อยากให้ กรธ. เป็นฝ่ายเสนอรัฐบาล แต่ถ้าไม่แก้ไข กกต. ก็ต้องทำตามกฎหมาย ถึงเวลาพรรคการเมืองใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิกพรรคหรือยื่นขอขยายเวลาเราก็ต้องสั่งให้พรรคนั้นสิ้นสภาพไป สำหรับมาตรา 141 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง จะเป็นเรื่องของ การแจ้งการเปลี่ยนแปลงสมาชิก การจัดหาสมาชิก การจัดหาทุนประเด็ม การเก็บค่าสมาชิก ที่พรรคการเมืองจะต้องดำเนินการหลัง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะมีกรอบเวลากำหนดในแต่ละเรื่อง” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ ก่อนมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ตนคาดการณ์ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งการคาดการณ์ของตนอาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะเป็นการคาดการณ์โดยดูจากลำดับของการพิจารณากฎหมายของ สนช. ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ในปลายเดือนนี้แล้ว ตามขั้นตอน สนช.ก็ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ว่ากฎหมายท้องถิ่นนายวิษณุ ระบุเองว่า ปีนี้อาจไม่เสร็จแน่นอน เท่ากับว่า อาจต้องเสนอประมาณต้นปีหน้า เมื่อเสนอเข้าต้นปีหน้าคิวของการที่จะแก้ไขกฎหมายให้เสร็จมันก็ต้องเกิดขึ้นหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมาย ส.ว. แน่นอน
“ถ้ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ประกาศราชกิจจานุเบกษาก็จะเริ่มนับหนึ่งการเลือกตั้งทันที ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าด้วยเหตุของข้อจำกัดในการแก้ไขกฎหมาย การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับ สนช. ว่า จะพิจารณาได้เร็วหรือไม่ ถ้าพิจารณาได้เร็วก็อาจดำเนินการได้ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ได้” นายสมชัย ระบุ
ส่วนความคืบหน้าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ในประเด็นอำนาจการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น นายสมชัย กล่าวว่า การพูดด้วยวาจาขณะนี้ทุกฝ่ายพูดเหมือนกันหมดว่า กกต. มีอำนาจทำอะไรก็ได้ จัดการก็ได้ ดำเนินการให้มีก็ได้ แต่ปัญหาก็คือกฎหมายลูกไม่ได้เขียนแบบนี้ แม้ทุกฝ่ายจะพูดตรงกัน แต่ถ้าหากว่าถึงเวลาแล้ว กกต. ไปจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นเองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง อาจจะมีมือดีไปร้องศาลได้ว่า กกต. ทำผิดกฎหมายลูก ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติในอนาคต กกต. ก็จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้มีการชี้ให้เกิดความชัดเจนว่า กกต. ทั้งสามารถจัดการและดำเนินการให้มี และถ้าเป็นไปได้ก็อยากขอให้เขียนกฎหมายให้ชัดว่าเราสามารถทำได้ทั้งสองอย่าง ทั้งนี้ คาดว่า กกต. จะสามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญภายในเดือนพฤศจิกายนนี้