xs
xsm
sm
md
lg

ตามดู 3 ร่าง กม.ท้องถิ่น ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “5 พันคน” เสนอข้อบัญญัติ-ยื่นถอดถอนคนท้องถิ่น เน้นง่ายขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตามดู 3 ร่าง กม.ท้องถิ่นฉบับแก้ไข เน้นง่ายขึ้น เสนอปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น ไม่น้อยกว่า 5 พันคน ตั้งบอร์ด ขรก.ส่วนท้องถิ่น อำนาจ “แต่งตั้ง จัดสอบ โยกย้าย สอบสวน เอาผิด ให้คุณธรรม” และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 พันคน สามารถยื่นถอดถอนสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้

วันนี้ (29 ก.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เผยแพร่ร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ฉบับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนบุคคลทั่วไปเสนอแนะความเห็น ตามนัยยะมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. ... ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ) พ.ศ. ...


ปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น “ไม่น้อยกว่า 5 พันคน”

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับแรกจะยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ซึ่งยังมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ร่างฉบับนี้ ให้ความสำคัญต่อการ “ให้ปรับลดจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นลงจากจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เป็น “ต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมกันไม่น้อยกว่าห้าพันคน หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ในวันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น สำหรับการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน”

นอกจากนี้ เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นได้สะดวกมากขึ้น โดยในการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นอาจมีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนเพื่อดำเนินการจัดให้มีการรวบรวมลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแจ้งให้ประธานสภาท้องถิ่นทราบเป็นหนังสือและขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือในการจัดทำร่างกฎหมายแก่ประชาชนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นดังกล่าว

กำหนดรายละเอียดคำร้องขอให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่นซึ่งรวมถึงเนื้อหาสาระของร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต้องมีความชัดเจนอย่างเพียงพอและกำหนดผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ใดร่วมลงชื่อในการเข้าชื่อดังกล่าวโดยถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้แล้วให้ถือว่าการเข้าชื่อนั้นมีผลสมบูรณ์และจะถอนการเข้าชื่อในภายหลังอีกมิได้

กำหนดหลักเกณฑ์ในตรวจสอบคำร้องขอให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการให้สภาท้องถิ่นพิจารณาออกข้อบัญญัติ การปิดประกาศและการคัดค้านรายชื่อผู้เข้าชื่อ การแจ้งให้ผู้แทนของผู้เข้าชื่อทราบเพื่อดำเนินการจัดให้มีการเข้าชื่อเพิ่มเติมให้ครบ กำหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะต้องดำเนินการยกร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นและเสนอต่อสภาท้องถิ่นโดยเร็ว เพื่อให้สภาท้องถิ่นต้องพิจารณาร่างข้อบัญญัติที่ประชาชนเสนอให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาและตามหลักเกณฑ์ที่ข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่นนั้นกำหนด กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นซ้ำ ในกรณีที่สภาท้องถิ่นไม่เห็นชอบร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอมา สภาท้องถิ่นจะพิจารณาร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นของผู้มีสิทธิเข้าชื่อที่มีหลักการเดียวกันนั้นซ้ำอีกภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีมิได้

การกำหนดโทษทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นและเพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการดำเนินการที่มิชอบด้วยกฎหมายในการเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น และกำหนดบทเฉพาะกาลให้การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ยื่นต่อประธานสภาท้องถิ่นแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าได้กระทำถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นพ.ศ. 2542 แล้ว ให้ถือว่าเป็นการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้


ตั้งบอร์ด ขรก.ส่วนท้องถิ่น อำนาจ “แต่งตั้ง จัดสอบ โยกย้าย สอบสวน เอาผิด ให้คุณธรรม”

ร่างฉบับนี้ หลักการคือ กำหนดให้มีการปฏิรูปและหลักการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น” เรียกว่า คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) องค์คณะมีลักษณะไตรภาคีจำนวนยี่สิบสี่คน มีผู้แทนส่วนราชการจำนวนแปดคน ทั้งฝ่ายการมเองและฝ่ายราชการ มีผู้แทนท้องถิ่นจำนวนแปดคน ทั้งผู้บริหาร และข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนแปดคน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารงานท้องถิ่น ด้านการศึกษา ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการด้านกฎหมาย และด้านการบริหารราชการแผ่นดิน โดยให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

โดยให้ ก.ถ.มีอำนาจหน้าที่กำหนดทิศทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ออกกฎ ก.ถ.ประกาศและระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลทั้งกระบวนการ พัฒนาข้าราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการสรรหาข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยการสอบแข่งขัน สอบคัดเลือกและคัดเลือกตำแหน่งประเภทบริหารท้องถิ่น ตำแหน่ง กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ตีความและวินิจฉัยปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ให้มีสำนักงาน ก.ถ.ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ในหน้าที่ของ ก.ถ. ขณะเดียวกันจะให้มี “คณะอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด (อ.ก.ถ.จังหวัด)” มีฐานะเป็นคณะอนุกรรมของ ก.ถ. องค์คณะมีลักษณะไตรภาคี จำนวนสิบแปดคน สเปคการทำงานคล้าย ๆกับ ก.ถ.

มีการบัญญัติให้ ก.ถ.มีอำนาจหน้าที่การสรรหา การบรรจุและแต่งตั้ง จัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น การสอบคัดเลือกและคัดเลือกตำแหน่งประเภทอำนวยการท้องถิ่น มีการให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่น สามารถสั่งบรรจุและแต่งตั้ง การโอน การรับโอน การสอบสวน การลงโทษทางวินัย และการให้ออกจากราชการ ส่วนการย้าย การเลื่อนระดับ และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ให้เป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

กฎหมายฉบับนี้ มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง บัญญัติให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติหน้าที่ เดียวติดต่อกันเป็นเวลาครบสี่ปี ให้สับเปลี่ยนหน้าที่โดยการโอนไปปฏิบัติหน้าที่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานขอความสมัครใจและความยินยอมระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่กรณีมีเหตุความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ก.ถ.อาจดำเนินการแทนโดยยกเว้นหลักความสมัครของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและความยินยอมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มีการกำหนดโครงสร้างและอัตรากำลัง บัญญัติให้ ก.ถ.กำหนดตามความเหมาะสม ความรับผิดชอบปริมาณงาน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบและแต่ละขนาด ทั้งนี้ สำหรับการกำหนดตำแหน่งพนักงานจ้างตามภารกิจที่มีชื่อตำแหน่งซ้ำซ้อนกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนอัตรากำลังของข้าราชการส่วนท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง

สุดท้ายมีการกำหนด บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ค.ท้องถิ่น) ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน โดยให้รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมอบหมายปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการ มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ ออกกฎ ก.พ.ค.ท้องถิ่น ประกาศ ระเบียบ หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการคุ้มครองระบบคุณธรรมให้แก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบ ทั้งนี้ ให้มีสำนักงาน ก.พ.ค.ท้องถิ่น ตั้งอยู่ในกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการในหน้าที่ของ ก.พ.ค.ท้องถิ่น


ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5 พันคน สามารถยื่นถอดถอนสมาชิกสภาหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ฉบับสุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น(ฉบับที่ ) พ.ศ. ... เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 254 ที่ให้หลักการว่า การลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นให้ง่ายขึ้น มีสาระใหม่ คือ

“1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เกินหนึ่งแสนคน ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือไม่น้อยกว่าห้าพันคน 2. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เกินหนึ่งแสนถึงหนึ่งล้าน ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน 3. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เกินหนึ่งล้าน ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ ไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน (ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง) “คะแนนเสียงถอดถอน” กำหนดว่า ให้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง “บัตรลงคะแนน” ระบุเพียงถอดถอน หรือไม่ถอดถอน และ “ค่าใช้จ่าย” ให้ กกต.รับผิดชอบ”

กำลังโหลดความคิดเห็น