MGR Online - “ปลัดยุติธรรม” เซ็นสรรหา “รองอธิบดีดีเอสไอ - ผบ.สำนักคดีใหม่” 6 ตำแหน่ง หลังพบคณะกรรมการแต่งตั้งหมดวาระ ยันไม่มีผลกับคดีดังทุกอย่างยังดำเนินการไปตามปกติ ส่วน “กรวัชร์” มือปราบรถหรู กับ “ประวุธ” ทวงคืนผืนป่าต้องระเห็จเก็บข้าวของกลับที่มั่นเก่าชั่วคราว
วันนี้ (20 มิ.ย.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกรณีมีผู้ร้องเรียนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผิดกฎระเบียบและสั่งให้มีการสรรหาใหม่ ว่า เป็นการดำเนินการหลังจากที่คณะกรรมการหมดวาระ จึงได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งมีข้อแนะนำว่าควรยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งฉบับเดิม และดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมได้ยกคำสั่งดังกล่าว คือ ระดับรองอธิบดีดีเอสไอจะกลับสู่ ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักคดี และ ผู้บัญชาการสำนักคดี ต้องกลับไปตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญ รวม 6 ราย
นายวิศิษฎ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการสรรหาจะเริ่มต้นใหม่และได้มีการลงนามเซ็นคำสั่งเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยการย้ายกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมซึ่งเป็นสิ่งต้องทำเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการในตำแหน่งต่างๆ ยืนยันว่า ไม่มีผลทางคดีที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ เพราะได้ประสานกับ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ อยู่แล้วว่าการดำเนินคดีทุกอย่างไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น สามารถดำเนินการได้ปกติ และไม่มีผลต่อการสั่งคดีเนื่องจากเป็นรูปแบบของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ
“ส่วนระยะเวลาการสรรหาใหม่ต้องใช้ระยะ 1 เดือนครึ่ง ถึง 2 เดือน ส่วนต้นเหตุในการล้มมติการแต่งตั้งข้าราชการนั้นทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อพบว่ามีข้อคลาดเคลื่อนในเรื่องกรอบเวลาของคณะกรรมการ ทางเจ้าหน้าที่จึงมีการรายงานขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการปกปิด แม้จะไม่มีการร้องเรียนเพราะกระบวนการของคณะกรรมการสรรหามีระยะเวลา 1 ปี” ปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าว
นายวิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า ส่วนผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งก่อนหน้านี้จะได้รับการคัดเลือกดำรงตำแหน่งเดิมหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่ที่คณะกรรมการสรรหารองอธิบดีดีเอสไอ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเมื่อมีการเปิดสรรหาจะมีคนสมัครใหม่เพิ่มหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการสอบของคณะกรรมการซึ่งมีข้าราชการได้รับผลกระทบ 6 ราย
ด้าน นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกฯ คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือนสามัญเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหาร ระดับต้น ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ปกติตามขั้นตอนต้องจัดประชุมเพื่อกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร หลักเกณฑ์การคัดเลือก กำหนดแผนการดำเนินการและวิธีการคัดเลือก เช่น กำหนดวันประกาศรับสมัคร วันส่งใบสมัครพร้อมข้อเสนอวิสัยทัศน์ วันตรวจสอบการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารกับสำนักงาน ก.พ. วันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสมัครการคัดเลือก พร้อมวันประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อรับรองผลการคัดเลือกเพื่อส่งให้ปลัดกระทรวงพิจารณา และออกคำสั่งแต่งตั้ง
“แต่จากการตรวจสอบของกระทรวง พบว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าวครบวาระเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 ก่อนวันที่จะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเพื่อรับรองผลการคัดเลือกตำแหน่งดังกล่าว เพื่อส่งไปให้ปลัดกระทรวงพิจารณาและออกคำสั่งแต่งตั้งไปนั้น มีข้อพิจารณาว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดใหม่ จะมีอำนาจประชุมรับรองผลดังกล่าวได้หรือไม่ จึงได้ทำหนังสือไปหารือสำนักงาน ก.พ. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2560 และ ตอบกลับมาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2560 ว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดเดิมได้ดำเนินการคัดเลือกตามกระบวนการที่ ก.พ. กำหนดจนแล้วเสร็จภายหลังจากครบวาระเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2560 โดยคณะกรรมการคัดเลือกได้เสนอรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกต่อกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 นั้น"
นายธวัชชัย เผยต่อว่า การดำเนินการของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการโดยปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้คำสั่งกระทรวงยุติธรรมที่ 69/2560 ลงวันที่ 27 มี.ค. 2560 ที่ให้ย้ายข้าราชการผู้ได้รับการคัดเลือกจำนวน 2 ราย ไปดำรงตำแหน่งรองธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดใหม่ จึงไม่สามารถพิจารณารับรองผลการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือกเดิมได้ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรม จึงต้องคำสั่งยกเลิกคำสั่งกระทรวงยุติธรรม ที่ 69/2560 ลงวันที่ 27 มิ.ย. 2560
นายธวัชชัย เผยอีกว่า โดยปลัดกระทรวงในฐานะผู้มีอำนาจสั่งบรรจุแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นตามมาตรา 57(3) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ภายใน 90 วันนับแต่วันได้รู้เหตุที่จะให้ยกเลิกคำสั่งนั้น ตามนัยมาตรา 49 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และให้คณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการพลเรือน เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนักบริหารระดับต้นในสังกัดกระทรวงยุติธรรมชุดใหม่ที่ อ.ก.พ. กระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2560 ให้รีบดำเนินการคัดเลือกการพลเรือนสามัญ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษตามวิธีการที่ ก.พ. กำหนดต่อไป
นายธวัชชัย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กระทรวงยุติธรรม จึงได้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งฯ และเร่งดำเนินการทันที โดยจะจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดใหม่ ในวันที่ 21 มิถุนายน และจะเสนอแผนการดำเนินการ ดังนี้ วันที่ 22 มิถุนายน ประกาศรับสมัคร (รับสมัคร 7 วันทำการ) วันที่ 28 มิ.ย. ส่งใบสมัครพร้อมข้อเสนอวิสัยทัศน์ วันที่ 7 ก.ค. ตรวจสอบการประเมินสมรรถนะหลักทางการบริหารกับสำนักงาน ก.พ. วันที่ 12 ก.ค. ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าสมัครคัดเลือก วันที่ 18 ก.ค. สัมภาษณ์และเสนอรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเสนอปลัดกระทรวงฯ และคาดว่าจะออกคำสั่งแต่งตั้งได้ภายในเดือน ก.ค.นี้
ขณะที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เผยว่า คำสั่งแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของดีเอสไอมีความผิดพลาด ขณะนี้ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้มีการเซ็นคำสั่งยกเลิกแล้ว ซึ่งในส่วน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ ซึ่งดูคดีรถเลี่ยงภาษี ก็ย้อนกลับไปตำแหน่ง ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ ดูแลคดีสำคัญบุกรุกเขตป่าสงวนแห่งชาติ ก็ย้อนกลับไปตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อม โดย 2 ท่านย้อนกลับไปตำแหน่งเดิม ไม่ส่งผลต่องาน เนื่องจากดำเนินคดีดังกล่าวตั้งแต่เป็น ผบ.สำนักคดี อีกทั้งการทำงานของดีเอสไอ จะมาในรูปแบบคณะกรรมการและคณะทำงาน
“การเซ็นคำสั่งยกเลิกถ้าพบเป็นความผิดพลาดในกระบวนการ หากปล่อยไว้นาน จะมีผลต่อภายภาคหน้า หลังจากนี้จะมีการสรรหาคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งใหม่ หลังจากนั้น ก็เข้าสู่กระบวนการเดิม คือ ให้ผู้มีสิทธิ์มายื่นใบสมัครตำแหน่ง รองอธิบดีดีเอสไอ ตำแหน่ง ผบ.สำนักคดี ตามขั้นตอนปกติ ส่วน พ.ต.ท.กรวัชร์ และ พ.ต.ท.ประวุธ ก็สามารถยื่นสมัคร และรับการพิจารณาคัดเลือกได้อีก” พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 6 ตำแหน่ง ถูกยกเลิกคำสั่งย้ายกลับตำแหน่งเดิม 1. พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีดีเอสไอ กลับตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม 2. พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีดีเอสไอ กลับตำแหน่ง ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค 3. พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กลับตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 4. พ.ต.ท.บรรณฑูรย์ ฉิมกรา ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 2 กลับตำแหน่ง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 5. พ.ต.ท.สุภัทร์ ธรรมธนารักษ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 กลับตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ และ 6. พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผบ.สำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กลับตำแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ