xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ชี้ พิรุธ “บิ๊กป้อม” ไปอังกฤษดีล “แม้ว” หาเงินทอนตั้งพรรคผ่านการประมูลปิโตรเลียมหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง ตั้งคำถาม “บิ๊กป้อม” ไปอังกฤษช่วงเวลาเดียวกับ “ทักษิณ” ขณะอธิบดีกรมเชื้อเพลิง ไปโรดโชว์อาบูดาบี ชวน บ.มูบาดาลา ที่มีสัมพันธ์กับอดีตนายกฯ หนีคดี ร่วมประมูลแหล่งเอราวัณ - บงกช ชี้ เป็นดีลหาเงินทอนตั้งพรรคหนุน คสช. ผ่านการประมูลปิโตรเลียมหรือไม่

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อเรื่อง “ไพ่เสริมจากทักษิณอีกแล้วหรือเปล่า?” ทั้งหมด 5 ตอน โดยมีเนื้อหาในรายละเอียดดังนี้

สิ่งที่เกิดย่อมมีเหตุ และเมื่อสิ่งที่เกิดดูเหมือนไม่ค่อยปกติ ก็ย่อมชวนให้คิดค้นหาสาเหตุที่แท้จริง …

ผู้อ่านลองวิเคราะห์กันดูครับว่า น่าจะมีสายใยเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ ... ไปที่ดูไบ หรือไม่

วันที่ 14 กันยายน มีข่าวว่า นายวีระศักดิ์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเดินทางไปอาบูดาบี

ข่าวระบุว่า เพื่อไปโรดโชว์ ชักชวนให้บริษัทมูบาดาลาของรัฐอาบูดาบี เข้ามาแข่งขันการเปิดสำรวจแหล่งเอราวัณ/บงกช

วันที่ 15 กันยายน มีคนระบุว่า พลเอก ประวิตร เดินทางไปลอนดอนก่อนคณะหนึ่งวัน ระบุว่า ไปทำธุระส่วนตัว ข่าวนี้ผมไม่สามารถยืนยัน

เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ พลเอก ประวิตร ถูกผู้สื่อข่าวรุมถามเป็นการใหญ่ ว่า มีการนัดพบกับคุณทักษิณ หรือไม่

วันที่ 16 กันยายน มีอินสตาแกรมของลูกสาวคุณทักษิณ ระบุว่า คุณทักษิณอยู่ที่ลอนดอนพร้อมแสดงรูป

วันที่ 19 กันยายน คุณรสนา เปิดเผยว่า อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เดินทางไปพบบริษัท มูบาดาลา

วันที่ 20 กันยายน รัฐมนตรีพลังงาน แจ้งผู้สื่อข่าวว่า ไม่ได้สั่งการให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯ เดินทางไปพบบริษัท มูบาดาลา

ก่อนหน้านี้ วันที่ 22 สิงหาคม นายกรัฐมนตรีมีหนังสือส่งร่างพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติให้ สนช.

มีอะไรที่เชื่อมโยงเหตุการณ์เหล่านี้หรือไม่ ...

เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์หลายอย่างมีลักษณะแปลกกว่าปกติ และน่าจะเชื่อมโยงกัน

ประการที่หนึ่ง
รัฐบาลไทยเปิดเชิญชวนสัมปทานปิโตรเลียมมาแล้ว 20 รอบ
เท่าที่ผมค้นดู ไม่เคยมีข้าราชการเดินทางออกไปโรดโชว์เพื่อกระตุ้นให้ใครมายื่นความจำนง
แม้แต่ครั้งเดียว …

ประการที่สอง
บริษัท มูบาดาลา มีออฟฟิศอยู่ในกรุงเทพฯนี้เอง ที่อาคารชินวัตร
และทำกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมาเป็นเวลานานนับสิบปี

การที่บริษัท มูบาดาลา จะไม่รู้ว่าไทยกำลังจะเปิดแข่งขันสำรวจแหล่งเอราวัณ/บงกช
จึงเป็นไปไม่ได้ …

ประการที่สาม
แหล่งเอราวัณ/บงกช ผลิตก๊าซมากถึงร้อยละ 75 ของปริมาณที่ผลิตในอ่าวไทย
และกระทรวงพลังงาน เคยให้ข้อมูลว่า สองแหล่งนี้จะยังผลิตต่อเนื่องไปอีกหลายปี
ถึงขั้นมีการยกร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม เพื่อทำสัญญายาวนานได้หลายสิบปี

การอ้างว่า กรมเชื้อเพลิงฯ จะต้องเสียเงินงบประมาณแผ่นดิน เดินทางไปถึงอาบูดาบี
เพื่อโรดโชว์แหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เพื่อโรดโชว์แหล่งผลิตที่มีมูลค่าสูงสุดในประเทศไทย
จึงเป็นเรื่องที่แปลกมาก …


ประการที่สี่
พลเอก ประวิตร ตอบปัดคำถาม ปฏิเสธว่า ไม่มีการพบปะกับคุณทักษิณที่ลอนดอน
แต่หลุดปากออกมาว่า กำหนดเดินทางเข้าออกของสองคน ไม่ตรงกัน จริงหรือไม่
ถ้าเป็นจริง การที่ พลเอก ประวิตร ล่วงรู้กำหนดเดินทางเข้าออกลอนดอนของคุณทักษิณ
ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องปกติ ...

เคยมีข่าวในไทยพับลิก้า ว่า คุณทักษิณ ผันตัวเป็นนายหน้าระหว่างประเทศ
โดยมีแหล่งปิโตรเลียมในไทยอยู่บนโต๊ะเจรจา
แต่ข่าวนี้ไม่ได้รับการยืนยัน หรือเคยมีการปฏิเสธ …

ในรอบสัมปทานที่ 19 บริษัท เพิร์ลออยได้ห้าสัมปทาน พื้นที่เกือบห้าหมื่นตารางกิโลเมตร
มากหรือน้อย? ต้องเปรียบเทียบกับพื้นที่ประเทศไทยซึ่งมีประมาณห้าแสนตารางกิโลเมตร

ปรากฏว่า ภายหลังมีราชวงศ์ของรัฐอาบูดาบี ที่ซื้อสโมสรฟุตบอลไปจากคุณทักษิณ
ราชวงศ์ผู้นี้เป็นประธานของบริษัทแม่ของเพิร์ลออย
ข่าวระบุว่า คุณทักษิณ ซื้อสโมสรมาห้าพันล้านบาท ...
ช่วงบริหารหนึ่งปี ขาดทุนหนึ่งพันเจ็ดร้อยล้าน สุดท้ายขายได้หมื่นล้าน ไม่รู้ว่าเท็จจริงเป็นอย่างไร
(ต่อมา บริษัทแม่โอนเพิร์ลออยไปให้มูบาดาลา โดยทั้งสามบริษัทเป็นของรัฐอาบูดาบี)

น่าคิดว่าเหตุการณ์ข้างต้น เชื่อมโยงกัน หรือไม่ ...
เพราะมีเรื่องที่แปลกบางเรื่อง

ประการที่หนึ่ง
มี 2 บริษัทที่ได้สัมปทาน ต่อมาโอนส่วนใหญ่ไปให้แก่เพิร์ลออย
ทั้ง 2 บริษัท ถูกตั้งชื่อให้พ้องกับบริษัทปิโตรเลียมยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ

คนดูผิวเผิน จะคิดว่าบริษัทแม่เป็นยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศ ...
แต่ผู้ถือหุ้นที่แท้จริง เป็นคนไทยที่เคยทำงานให้คุณทักษิณ

จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
การตั้งชื่ออย่างนั้น มีวัตถุประสงค์ใด …

ประการที่สอง
ใน 2 บริษัทดังกล่าว ...
บริษัทหนึ่งเพิ่งจัดตั้งก่อนหน้าประกาศรอบ 19 เพียงไม่กี่เดือน
อีกบริษัทหนึ่ง ณ วันประกาศรอบ 19 ยังไม่มีตัวตนเลยด้วยซ้ำ
จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
กระทรวงพลังงานจะถือว่ามีประสบการณ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ได้อย่างไร …

ประการที่สาม
มีหนังสือพิมพ์ธุรกิจใหญ่ ชื่อ ฟอร์บส ที่ทำการประเมินมูลค่าของสโมสรฟุตบอลอังกฤษทุกปี
และในปีก่อนหน้า ได้ประเมินมูลค่าสโมสรของคุณทักษิณไว้เพียงระดับห้าพันล้าน ...
แต่ราชวงศ์อาบูดาบีที่ซื้อสโมสรฟุตบอลไปจากคุณทักษิณ
ยอมควักกระเป๋าซื้อของในราคาแพงกว่าตลาดอีกหนึ่งเท่าตัว
จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
ราชวงศ์อาบูดาบีจะยอมเสียเปรียบคุณทักษิณในระดับหลายพันล้าน เชียวหรือ ...

คำถามที่ค้างคาใจนักวิเคราะห์สถานการณ์อย่างมาก ก็คือ
การเปิดให้ทำธุรกิจต่อในแหล่งเอราวัณ/บงกช ...
ประกอบกับคอนเนกชั่นสามเหลี่ยม อาบูดาบี-ลอนดอน-กรุงเทพฯ …

ถ้าจะทำให้มีเงินทอนสำหรับตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้อย่างไร ?
(ก) ต้องจิ้มผู้ชนะได้ และ
(ข) ต้องไม่บังคับให้แบ่งประโยชน์ให้รัฐบาลไทยสูงสุด เพื่อให้เหลือเงินทอน


สถานการณ์ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ามีข้อสงสัยได้หลายประการ

ประการที่หนึ่ง
พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ ที่เพิ่งผ่าน สนช. ปรากฏว่าไม่มีข้อบัญญัติ ...
ที่บังคับให้ประมูลแข่งขันโปร่งใส เหมือนกรณีคลื่นโทรศัพท์สี่จี
ทั้งที่ ทำให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดโดยอัตโนมัติ ...
ทั้งที่ ภาคประชาชนเรียกร้อง ...
จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
เป็นแผนการเพื่อไม่ต้องจ่ายรัฐสูงสุด หรือไม่ …

ประการที่สอง
พ.ร.บ. ปิโตรเลียมฯ มีข้อบัญญัติให้เอกชนผู้แข่งขัน ...
ต้องยื่นข้อมูลปริมาณงาน ปริมาณเงิน
ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้จิ้มผู้ชนะสัมปทานปิโตรเลียมมาตลอด ...
ซึ่งเคยใช้จิ้มบริษัทจัดตั้งใหม่ ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน ...
จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
เงื่อนไขดังกล่าว เป็นแผนการเพื่อจิ้มผู้ชนะตามใจ หรือไม่ …

ประการที่สาม
เมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏข่าวว่า บุคคลที่เคยบอกว่าจะเลิกเล่นการเมือง เปลี่ยนใจจะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน คสช. …

และการที่ผู้ชนะเอราวัณ/บงกช เป็นบริษัทในตลาดหุ้น จะจ่ายเงินทอนก้อนใหญ่
สตง.ไทยจะตรวจพบได้ ...
ก.ล.ต. สหรัฐฯจะตรวจพบได้ ...
แต่ไม่มีใครสามารถตรวจสอบบริษัทตะวันออกกลางได้ ...
จึงอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า
เรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน หรือไม่ ...


สามเหลี่ยม อาบูดาบี-ลอนดอน-กรุงเทพ มีอะไรเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ?
เดิมกระทรวงพลังงานประกาศว่า ...
การแข่งขันเอราวัณ/บงกช จะเริ่มในเดือนกันยายน/ตุลาคม
แต่จะเดินหน้าได้จริง รัฐบาลต้องประกาศคีย์สำคัญก่อน เช่น …

(1) วิธีการบริหารสิทธิซื้อขายปิโตรเลียม
ทั้งปิโตรเลียมที่เป็นของรัฐ และที่รัฐจะรับซื้อจากเอกชน
เช่น ต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือต้องมีบริษัทซื้อขายก๊าซ

(2) การเปิดให้บุคคลที่สามร่วมใช้ระบบท่อก๊าซ
เช่น แยกระบบท่อก๊าซออกไปไว้ที่บรรษัทพลังงานแห่งชาติ
ถ้ารัฐบาลยังไม่ประกาศคีย์สำคัญ ...
กลไกการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ก็จะยังไม่ครบถ้วน
กฎกระทรวง ก็จะผิดกฎหมาย …

ในเรื่องนี้ จึงมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ

ประการที่หนึ่ง
มีแผนการที่จะตั้งบริษัทซื้อขายก๊าซ ภายใต้ครอบบรรษัทของ คสช. ใช่หรือไม่
แทนที่จะตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจเฉพาะตามที่ คปพ. เสนอ
ถามว่าแตกต่างกันอย่างไร? ...
ถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจแยกต่างหาก ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมหาชน
แต่ถ้าเป็นบริษัทภายใต้ครอบบรรษัทของ คสช.
ก็จะเปลี่ยนมาเป็นองค์กรภายใต้ประมวลแพ่งพาณิชย์ เหมือนเอกชนทั่วไป ...
กฎ กติกา มารยาท สำหรับบริษัทเอกชนย่อมจะหลวมสบายมากกว่า

ประการที่สอง
มีแผนการที่จะตั้งบริษัทระบบท่อก๊าซ ภายใต้ครอบบรรษัทของ คสช. ใช่หรือไม่
แทนที่จะให้เป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ตามที่ คปพ. เสนอ
ด้วยเหตุผลเดียวกัน …

ดังนั้น คำถาม ... คำถาม ...
ในบริบทสามเหลี่ยม อาบูดาบี-ลอนดอน-กรุงเทพ ...
พรบ.ตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กลายเป็นหมากสำคัญ ที่จะใช้ปลดล็อกกฎกระทรวง เอราวัณ/บงกช ไปด้วยในตัว

ใช่หรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น