เมืองไทย 360 องศา
เมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ บริษัท เอ็นเนอยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) และเห็นชอบแผนฟื้นฟู โดยมีบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส เป็นผู้ทำแผน และบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
เอ่ยชื่อ “อีวาย” อาจจะงงๆ ว่า เป็นใครมาจากไหน เชื่อถือได้หรือไม่
อีวาย คือ Eranst & Young ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อ เป็น EY บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ ตรวจสอบบัญชี วางแผนทางการเงิน ฯลฯ ชั้นนำของโลก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าหนี้ของ เอิร์ธ จะเห็นชอบให้เป็นผู้ทำแผน และบริหารแผนฟื้นฟู เพราะเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เจ้าหนี้ที่ถือตั๋ว บี/อี หุ้นกู้ เจ้าหนี้การค้า และตัวลูกหนี้เอง
เจ้าหนี้ของ เอิร์ธ ที่เป็นสถาบันการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย มูลหนี้ 12,000 ล้านบาท กสิกรไทย 3,800 ล้านบาท กรุงศรีอยุธยา 1,200 ล้านบาท เอ็กซิมแบงก์ 350 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีเจ้าหนิ้ตั๋วบีอี หุ้นกู้ มูลหนี้ประมาณ 7 พันล้านบาท
ก่อนหน้านี้ เอิร์ธ เสนอตัวเป็นผู้ทำแผน และบริหารแผนเอง แต่เจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้ง 4 ราย ไม่เห็นด้วย จึงยื่นคัดค้านต่อศาล ในการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา
พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9 ) พ.ศ. 2559 ส่วนที่ 3 เรื่อง การพิจารณาคำร้องขอให้ฟืนฟูกิจการ และเห็นชอบด้วยแผน มาตรา 90/101 การให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาล ต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(๑) แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา ๙๐/๙๖
(๒) แผนได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้จำนวนไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนหนี้ทั้งหมด
(๓) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนั้นเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้เสียเปรียบจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือกับข้อเสนอชำระหนี้ในลำดับซึ่งแตกต่างออกไป
(๔) เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย และ
(๕) เจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เว้นแต่เจ้าหนี้ผู้ได้รับการปฏิบัติที่เสียเปรียบในกลุ่มนั้นจะให้ความยินยอมเป็นหนังสือ
จึงเป็นไปไม่ได้ ที่ เจ้าหนี้รายหนึ่งรายใดจะ “ รู้กัน” หรือ “ซูเอี๋ย” กับลูกหนี้ที่ขอฟื้นฟู เพื่อจะได้รับชำระหนี้ครบ หรือ ได้มากกว่ารายอื่นๆ เพราะต้องให้เจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า สองในสาม เห็นชอบด้วย และการชำระหนี้ตามแผน ต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สิน
จึงเป็นเรื่องที่ “ มโน” ว่า ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด “ซูเอี๋ย” กับ เอิร์ธ ไม่คัดค้านการตั้ง “ อีวาย” เป็นผู้บริหารแผน โดยมีรางวัลตอบแทน คือ ได้รับชำระหนี้ครบ 100%
แผนฟื้นฟู เป็นเอกสารที่ต้องส่งให้เจ้าหนี้ทุกรายพิจารณา ให้ความเห็นชอบ ไม่ใช่เอกสารลับ ที่มีแต่เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดกับลูกหนี้ งุบงิบกันทำให้ที่ลับ ไม่ให้คนอื่นรู้เห็น
บริษัท เอิร์ธ ยื่นขอฟื้นฟู ด้วยมูลหนี้ 47,000 ล้านบาท มากกว่าหนี้สินที่แจ้งในงบการเงินในไตรมาส 1/2560 ที่มีเพียง 25,034 ล้านบาท
หนี้ที่เพิ่มขึ้นมา 21,000 ล้านบาท มาจากไหน ทำไมในงบการเงินที่ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีหนี้ก้อนนี้อยู่ เป็นหนี้ที่ลูกหนี้อุปโลกน์ขึ้นในแผนฟื้นฟู เพื่อเป็นเสียงโหวต ค้านกับเจ้าหนี้ตัวจริง หรือเปล่า เป็นหนี้เทียม ที่สร้างขึ้น สำหรับ ยื่นขอชำระหนี้ในฟื้นฟูด้วยหรือเปล่า
ธนาคารกรุงไทย กับเจ้าหนี้อีก 3 ราย จึงยื่นคัดค้านในส่วนของมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นมานี้ และขอสงวนสิทธิในการโต้แย้งมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้นมานี้
รายได้หลักของธนาคารมาจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งมีความเสี่ยง ธนาคารจึงมีมาตรการป้องกันความเสี่ยง เมื่อปล่อยสินเชื่อไปแล้ว ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ผู้ฝากเงิน ด้วยการติดตามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้ครบ หรือให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้โอกาสลูกหนี้ที่ยังมีโอกาสฟื้นฟูกิจการ ด้วยการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา และด้วยความโปร่งใส ตามกระบวนการของกฎหมาย
นี่คือ ภารกิจของธนาคารกรุงไทยและธนาคารเจ้าหนี้อื่นๆ ในเรื่อง การฟื้นฟูกิจการ ของ เอ็นเนอยี่ เอิร์ธ