สตง.เปิดผลตรวจสอบ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ทั่วประเทศ รวมถึง “กองทุนโบราณคดี” สังกัดกรมศิลปากร พบร้อยละ 95 ขาดความเข้าใจในการบันทึกข้อมูล ควบคุมการเคลื่อนย้าย และตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ-ศิลปวัตถุที่ชัดเจน หลังพบรายงานการจัดทำทะเบียนแตกต่างกันกว่า 6,024 รายการ แถมการใช้จ่ายเงินกองทุนโบราณคดียังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
วันนี้ (13 ก.ย.) มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกองทุนโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยเน้นตรวจสอบ “กองทุนโบราณคดี” ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ประกอบด้วย เงินรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ เงินผลประโยชน์อันเกิดจากโบราณสถาน ตลอดจนเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ และเงินทุนกองกลาง และเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ทั้งนี้ สตง.ได้ตรวจสอบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และกองทุนโบราณคดีของกรมศิลปากร พบว่า การบันทึกข้อมูล การควบคุมการเคลื่อนย้าย และการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยังไม่เป็นไปตามคู่มือที่กำหนด การใช้จ่ายเงินกองทุนโบราณคดียังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี ขาดการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ของผู้ประกอบการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
ทั้งนี้ยังพบว่า คณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนด การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ยังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนไม่มีการประกาศรายชื่อสถานประกอบการค้าที่ได้รับใบอนุญาตในราชกิจจานุเบกษาตามที่กฎหมายกำหนด
“พบว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งไม่จัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก และส่วนใหญ่จัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลักไม่ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน ขณะที่การบันทึกข้อมูลโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุในสมุดทะเบียนบัญชีหลักที่ตรวจสอบในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2558 พบว่า 18 แห่ง ไม่มีการลงลายมือชื่อของผู้เขียนและผู้ตรวจไว้ท้ายรายการโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีการบันทึกในแต่ละปี”
สตง.ยังพบว่า ร้อยละ 71.43 ไม่จัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุ ร้อยละ 82.35 บันทึกลงข้อมูลดิจิตอลไม่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน อย่างไรก็ตามมี 17 แห่ง ที่บันทึกข้อมูลทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดิจิตอล ทั้งนี้ยังพบปัญหาหลายแห่ง ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลดิจิตอลในการควบคุมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุได้ตามวัตถุประสงค์ ร้อยละ 88.88 ไม่มีการบันทึกข้อมูลการเคลื่อนย้าย ร้อยละ 71.43 ไม่มีการจัดทำบัตรทะเบียนประจำวัตถุ รวมไปถึงการเคลื่อนย้าย
ประเด็นการตรวจสอบจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในคู่มือการจัดทำทะเบียน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่กำหนดกว่าร้อยละ 95.00 ยังขาดความรู้ในเรื่องของการการลงลายมือชื่อ หรือการทำสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวัน ทั้งในส่วนของนิทรรศการ หรือคลังพิพิธภัณฑ์ ทำให้การรายงานผลการเคลื่อนไหวของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 21 แห่ง ในรอบ 1 เดือน จากการตรวจสอบรายงานผลการเคลื่อนไหวกับจำนวนที่สุ่มตรวจสอบและมีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก จำนวน 18 แห่ง พบว่ามีการจัดทำทะเบียนในรายงานผลการเคลื่อนไหวที่มีการบันทึกในสมุดทะเบียนบัญชีหลักมีจำนวนไม่สอดคล้องกัน โดยร้อยละ 83.33 มีการจัดทำสมุดทะเบียนบัญชีหลัก และมีจำนวนวัตถุที่รายงานแตกต่างจากการจัดทำทะเบียนทั้งสิ้น 6,024 รายการ ประเด็นดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่มีหลักฐานทะเบียนบัญชีแน่นอนที่ใช้เพื่อการปกป้องคุ้มครองความปลอดภัย หากมีการเคลื่อนย้าย บรรจุหีบห่อ หรือขนส่ง หรือถ้าชำรุดเสียหาย สูญหาย
“ไม่สามารถตรวจสอบหรือมีหลักฐานที่ใช้ในการตรวจพิสูจน์เพื่อการติดตามกลับคืนมา และไม่สามารถควบคุมจำนวนโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่มีอยู่ในความครอบครองให้มีการจัดเก็บอย่างมีระเบียบหรือเป็นระบบ ทำให้ยากแก่การค้นหาและตรวจสอบ ทั้งนี้ สตง.ได้กำชับให้ผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำกับดูแลให้ภัณฑารักษ์ หรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควบคุมและติดตามผลการปฏิบัติงานดังกล่าวอย่างเคร่งครัด”
มีรายงานว่า สำหรับประเด็นการใช้จ่ายเงิน ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ “กองทุนโบราณคดี” เพื่อใช้จ่าย เป็นค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ และเงินสนับสนุนจังหวัดประจำปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 พบว่า ในหน่วยงานส่วนกลาง ได้แก่ สำนักบริหารกลาง สำนักหอสมุดแห่งชาติ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เป็นต้น รวมเงิน 4,191,950 บาท แบ่งออกเป็นค่าจ้าง 3,871,950 บาท และค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ 320,000 บาท สำหรับ หน่วยงานส่วนภูมิภาค ได้แก่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอสมุดแห่งชาติ ของสำนักศิลปากรที่ 1-15 รวมเป็นจำนวนเงิน 22,073,098 บาท แบ่งออกเป็นค่าจ้าง 17,345,778 บาท และค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ 4,727,320 บาท
ขณะที่การจ่ายเงินสนับสนุนจังหวัดประจำปี ซึ่งกิจกรรม/โครงการที่จัดไม่ได้เป็นไปเพื่อการเผยแพร่เกี่ยวกับกิจการด้านโบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์ พบว่ามี 3 จังหวัดที่ได้รับเงินสนับสนุน ประจำปี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,800,000 บาท เพื่อจัดงานประเพณีของจังหวัดมี วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและเป็นการส่งเสริม การท่องเที่ยวของจังหวัด
“การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี ทำให้งาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวกับกิจการด้านโบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์เสียโอกาสในการได้รับจัดสรรเงินเพื่อนำไปใช้จ่าย ในกิจการอันเป็นประโยชน์แก่โบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี”
สตง.พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนโบราณคดี เกิดจากความไม่ชัดเจนของระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการเก็บรักษาและการจ่ายเงินกองทุนโบราณคดี พ.ศ. 2534 กล่าวคือ ระเบียบข้อ 6 ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้จ่าย เงินกองทุนโบราณคดี ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ใช้จ่ายในกิจการอันเป็นประโยชน์แก่โบราณสถานหรือการพิพิธภัณฑ์ แต่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว กำหนดให้การจ่ายเงินกองทุนโบราณคดีเกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์กับกิจการด้านโบราณคดีหรือการพิพิธภัณฑ์
“ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเงินกองทุนโบราณคดี แม้กรมศิลปากรจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษากองทุนโบราณคดีก็ตาม แต่มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนงาน โครงการ เพื่อจัดหารายได้และการขอใช้เงินกองทุนโบราณคดีเท่านั้น”
ขณะเดียวกัน จากรายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสถานการค้าและสถานจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 พบว่า มีสถานประกอบการค้าที่ไม่ได้ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต จำนวน 33 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 19.64 ของจำนวนสถานประกอบการที่ตรวจสอบทั้งหมด จำนวน 168 แห่ง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะตักเตือนสถานประกอบการค้าด้วยวาจา แต่ไม่มีการติดตามผลการยื่นขอหรือต่อใบอนุญาตของสถานประกอบการดังกล่าว
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพื้นที่ความรับผิดชอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 พบว่า คณะกรรมการบางกลุ่มไม่มีการรายงานผลการตรวจสอบสถานประกอบการค้า โดยเฉพาะในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ทำให้กรมศิลปากรสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำการค้าโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จากการที่สถาน ประกอบการค้าไม่ยื่นขอหรือต่อใบอนุญาต และยังอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สถานประกอบการค้าจะมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
ท้ายสุด จากการสังเกตการณ์การเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่สุ่มตรวจสอบ จำนวน 21 แห่ง พบว่า มี 15 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 71.43 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่สุ่มตรวจสอบ ไม่ได้กำหนดเลขของชั้นหรือตู้ที่ใช้วางวัตถุไว้อย่างชัดเจน การจัดวางปะปนกัน และรวมกับวัตถุอื่นๆ ทำให้การค้นหาตรวจสอบมีความยุ่งยาก ไม่สะดวก ต้องรื้อค้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ นอกจากนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบางแห่งมีห้องคลังที่มีการจัดเก็บ โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในห้องใต้ดินที่มีความชื้นสูง ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ อาจส่งผลกระทบต่อโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่จัดเก็บได้