xs
xsm
sm
md
lg

มรดกวัฒนธรรมล้ำค่า กระชับสัมพันธ์ ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยิ่งใหญ่...ฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น ครบ 130 ปี กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร นำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า 130 ชิ้น จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง Thailand:Brilliant Land of the Buddha ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ประเทศญี่ปุ่น
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เดินทางไปเปิดนิทรรศการพิเศษฯ โดยมี นายโอกาว่า ฮิโรชิ ผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกุโอกะ นายซิมะทะนิ ฮิโรยูกิ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู พร้อมคณะให้การต้อนรับ
นายวีระ กล่าวว่า จากหลักฐานพบว่าประเทศไทยและญี่ปุ่น มีการติดต่อกันมายาวนานกว่า 600 ปี นับตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และได้เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ 130 ปี โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งล้วนมีรากฐานมาจากพระราชไมตรีอันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ญี่ปุ่น และพระราชวงศ์ไทย พระราชวงศ์ทั้งสองได้แลกเปลี่ยน การเยี่ยมเยือนกันอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น การนับถือศาสนาพุทธ การดำรงชีวิตมาจากสังคมเกษตรกรรม เป็นต้น
ที่ผ่านมาสองประเทศยังได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องและหลากหลายรูปแบบ แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กรมศิลปากร ให้ยืมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยมที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ทุกสมัยของประเทศไทย จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 17 แห่งและหอสมุดแห่งชาติจำนวน 116 รายการ 130 ชิ้น บางชิ้นไม่เคยอนุญาตให้นำออกไปจัดแสดงนอกประเทศ อาทิ บานประตูไม้แกะสลักพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจำหลักนำไว้เป็นปฐมรักษ์ แสดงความเอกของฝีมือไทย โดยบานประตูไม้แกะสลักได้รับทุนสนับสนุนด้านการอนุรักษ์จากมูลนิธิซูมิโตโม ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีบานหน้าต่างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม เป็นฝีมือช่างญี่ปุ่น ที่หาชมได้ยากยิ่ง แม้แต่ที่ญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านการอนุรักษ์จากสถาบันวิจัยมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติ กรุงโตเกียว
นอกจากนี้ ยังมีการนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุชิ้นสำคัญไปจัดแสดงอีกจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปหินทราย ศิลปะอินเดีย แบบสารนาถ พุทธศตวรรษที่ 11 พบที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี, พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ สำริด ยุคสมัยอินเดีย พุทธศตวรรษที่ 14 - 16 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้มาจากเมืองนครราชสีมา พระโพธิสัตว์หิน ศิลปะศรีวิชัย พบที่ อ.เมืองไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระบฎ ผ้า สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 - 25 ตะลุ่มทรงดอกบัวเงิน สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 - 25 ดาบอาญาสิทธิ์เงิน กะไหล่ทองโลหะผสม สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ พระราชทานแก่เจ้าบดินทรเดชา (สิงห์) ซึ่งเป็นต้นตระกูลสิงหเสนี รวมถึงเหรียญเงินตราธรรมจักร ยุคสมัยทวารดี พบที่ ต.พระประโทน จ.นครปฐม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดนิทรรศการพิเศษครั้งนี้ ได้จัดตามยุคสมัย เพื่อง่ายต่อการศึกษา ค้นคว้าด้วย
ภายหลังเปิดนิทรรศการพิเศษอย่างเป็นทางการ ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากแห่ชมนิทรรศการของไทยอย่างเนื่องแน่น โดยเฉพาะบานประตูไม้แกะสลักพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม เห็นแววตาฉายความทึ่งในฝีมือการแกะสลักไม้ที่ประณีตงดงาม ขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ อื่นๆ ที่นำมาจัดแสดงด้วย
ทั้งนี้ นิทรรศการพิเศษ เรื่อง Thailand:Brilliant Land of the Buddha จัดแสดง ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ คิวชู ระหว่างวันที่ 11 เมษายน ถึง 4 มิถุนายน 2560 และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โตเกียว ระหว่างวันที่ 4 กรกฎาคม ถึง 27 สิงหาคม 2560 เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเดินมาประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากเปิดนิทรรศการพิเศษแล้ว นายวีระ พร้อมผู้บริหาร ยังได้รับเกียรติเข้าชมนิทรรศการพิพิธภัณฑ์คิวชู ได้แบ่งออกเป็นหลายๆ ส่วนตามยุคสมัยต่างๆของญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคเอโดะ ด้วยวิธีการนำเสนอที่สร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้ที่ได้ทดลองทำให้น่าสนุก เหมาะสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว
ที่สำคัญคณะของเราได้รับเกียรติให้เข้าไปศึกษาดูงานระบบการทำงานเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคนิควิทยาศาสตร์ และอื่นๆ นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ไทย-ญี่ปุ่น ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการ การบันทึกข้อมูล ระบบการอนุรักษ์ การจัดเก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการอนุรักษ์ของสองประเทศจะใกล้เคียงกัน สิ่งที่แตกต่างกัน ตรงที่ญี่ปุ่นทำงานแล้วจะสมบูรณ์เป็นระบบมากกว่าอาจจะด้วยปัจจัยต่างๆ เรื่องบุคลากร งบประมาณ ตลอดจนการเอาใจใส่ของญี่ปุ่น
อีกทั้งพิพิธภัณฑ์คิวชูเป็นอาคารสมัยใหม่ มีสถานที่เก็บโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุขนาดใหญ่ รถบรรทุกสามารถเข้าไปภายในตัวอาคารได้ มีระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์คิวชู จะนำไปปรับใช้กับพิพิธภัณฑ์ของไทย รวมทั้งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ จำนวนมากที่อยู่ในคลัง จะต้องจัดทำให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า
...ปลายปีนี้ ญี่ปุ่น จะนำโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ มาจัดนิทรรศการที่ประเทศไทย กระชับสัมพันธ์ "ไทย-ญี่ปุ่น" 130 ปี







กำลังโหลดความคิดเห็น