ช่างสิบหมู่ร่วมกับศิลปาชีพเกาะเกิด-สีบัวทอง จัดสร้างสมุดข่อยปาฏิโมกข์ หนึ่งในเครื่องสังเค็ดงานพระราชพิธี ระบุจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ ฟื้นฟูกรรมวิธีผลิตกระดาษข่อยโบราณขึ้นใหม่ ใช้ต้นแบบวัดบวรฯ ปกประดับพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. มีลายครุฑ ลงรักปิดทอง เริ่มเขียนอักษรภาษาขอมลงสมุดข่อย 41 เล่ม
นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า สำนักช่างสิบหมู่ ร่วมกับศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง ดำเนินการจัดสร้างสมุดปาฎิโมกข์ ที่เป็นหนึ่งในชุดประกอบเครื่องสังเค็ดสำหรับถวายแด่พระภิกษุที่มาร่วมพระราชพิธีงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ภายหลังจากที่ได้การหารือร่วมกับท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ สำนักราช เลขาธิการ ที่ต้องการให้มีการจัดสร้างสมุดปาฎิโมกข์ครั้งนี้เป็นครั้งพิเศษ โดยเห็นว่าที่ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดนี้สามารถผลิตสมุดไทยจากกระดาษข่อย ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในประเทศที่ได้มีการสืบทอดการทำสมุดข่อยตามแบบโบราณไว้ นอกจากวิทยาลัยในวัง ถือได้ว่ามีการสืบสานและฟื้นฟูการทำสมุดข่อยขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ ๙ จากนั้นจึงประสานงานกับพระโสภนคณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการนำต้นแบบของสมุดปาฎิโมกข์มาใช้ดำเนินการ ก่อนจะมอบหมายให้ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิดเป็นผู้ดำเนินการ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการผลิตกระดาษข่อยทำหัวโขน การเขียนอักษรโบราณและงานจิตรกรรม เป็นต้น
นายสมชายกล่าวต่อว่า ที่เลือกใช้กระดาษข่อย เพราะมีอายุการใช้งานยาวนาน ไม่ถูกทำลายจากแมลงได้ง่าย อีกทั้งในอดีตใช้กระดาษข่อยบันทึกเรื่องราวเป็นอักษร เช่น พระไตรปิฎก สมุดปาฏิโมกข์ สมุดพระมาลัย นิทานชาดก ตำราช้าง ม้า โค ตำรานวด ซึ่งได้ดำเนินการวัดแบบและขนาดของสมุดข่อยปาฎิโมกข์ของวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี อ.สุดสาคร ชายเสม เป็นผู้ออกแบบหน้าปกสมุดข่อยเป็นลายรดน้ำ ตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ใจกลางประดับพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ถัดมาเป็นลายก้านขด ส่วนปลายเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บริเวณมุมของสมุดเป็นลายเถาก้านขดออกเป็นหน้าครุฑ แสดงถึงราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ ตรงขอบเป็นลายสังเวียน สันสมุดปิดทองคำเปลว 100% โดยรอบ ปกหน้าและปกหลังเป็นลวดลายเดียวกัน ขนาดยาว 31.5 ซม. กว้าง 11.2 ซม. หนา 37 พับ ในสมุดเขียนอักษรขอม จารึกเรื่องราวของบทปาฎิโมกข์สำหรับพระภิกษุจำนวน 40 วัด จากเดิมที่กำหนดไว้ 39 วัด แต่ล่าสุดได้เพิ่มวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นวัดที่ได้มีการสวดพระปริตรในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ และยังจัดทำเพื่อจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์อีก 1 เล่ม รวมทั้งหมด 41 เล่ม
“ขณะนี้ได้จัดทำสมุดข่อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการเขียนปก และเขียนตัวอักษรขอมโดยมีครู และอาสาสมัครที่มีความเชี่ยวชาญด้านการอ่านและเขียนภาษาขอม จำนวน 2 คน การเขียนยึดรูปแบบของวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีเจ้าหน้าที่อักษรโบราณของกรมศิลปากรตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง การนำต้นแบบของวัดบวรฯ มาใช้ เพราะวัดแห่งนี้ถือเป็นวัดประจำรัชกาล ในหลวง ร.9 ทรงมีความผูกพัน อีกทั้งพระบรมราชสรีรางคารจะนำไปบรรจุที่วัดนี้ อีกทั้งยังมีความผูกพันกับสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดคืบหน้ากว่าร้อยละ 50” นายสมชายกล่าว
พล.ร.อ.สำเภา พลธร ผู้ดูแลศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง กล่าวว่า แผนกนักเรียนศิลปาชีพเกาะเกิด และศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองได้รับมอบหมายจากสำนักพระราชวังให้ดำเนินโครงการจัดสร้างสมุดปาฏิโมกข์ เป็นหนึ่งในชุดประกอบเครื่องสังเค็ด ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะใช้เพื่อถวายแด่พระที่มาร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จำนวน 41 เล่ม ทั้งนี้ ในการทำงานมีนักเรียนศิลปาชีพทั้ง 2 แห่ง มาช่วยปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนยากจนจาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับการฝึกวิธีการทำกระดาษข่อยจากทายาทตระกูลเก่าแก่ที่ทำกระดาษข่อยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕
“คณะทำงานศิลปาชีพเกาะเกิดและสีบัวทองประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูการทำกระดาษข่อยเมื่อปลายปี 58 ทั้งนี้ ได้มีการค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการจากเอกสารหลักฐานที่มีบันทึกไว้ รวมทั้งหาบุคคลที่มีประสบการณ์ผลิตข่อยสืบต่อกันมา และทดลองปลูกต้นข่อยในพื้นที่เพื่อเป็นวัตถุดิบทำกระดาษข่อย ส่วนกรรมวิธีการผลิตเป็นภูมิปัญญาไทยโบราณมีมาก่อนกระดาษ เอ 4 จะเกิดขึ้น คุณสมบัติของกระดาษข่อยมีความเบาและแกร่ง เมื่อในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จสวรรคต นักเรียนศิลปาชีพพร้อมใจถวายงานสร้างสมุดปาฏิโมกข์ ทุกขั้นตอนตั้งใจทำอย่างเต็มที่” พล.ร.อ.สำเภากล่าว
ด้านนายชาย มีจำรัส ครูพิเศษศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด กล่าวว่า ตนเป็นผู้ดูแลการเขียนอักษรลงในสมุดข่อย เป็นอักษรขอม บาลีปาติโมกข์ โดยใช้ทักษะด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้กับการเขียนตัวอักษร สมุดข่อย 1 เล่ม มีจำนวน 60 หน้า 30 พับ ใช้เวลาในการเขียนอักษรประมาณ 1 เดือน ต่อ 1 เล่ม ขณะนี้ได้คัดเลือกเยาวชนจากศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และเจ้าหน้าที่จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มาทดลองฝึกเขียนอักษรขอมบาลีปาติโมกข์ ผู้เขียนต้องมีทักษะในการใช้ปากกาสปีดบอล หรือปากกาหัวตัด เพื่อเขียนเป็นตัวอักษรแบบชุบย่อ มีลักษณะซ้อน 2 ชั้นต่างจากการเขียนหนังสือปกติ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเขียนอักษรลงในสมุดทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้