“อุดม เฟื่องฟุ้ง” อดีตรองประธานศาลฎีกา ยันสามารถขยายเวลายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกไปจาก 30 วันได้ เพื่ออำนวยความยุติธรรม ชี้คดีทั่วๆ ไปก็ทำกันมากถึง 60-70% ลั่นไม่ว่ากฎหมายใดเหนือกว่าความยุติธรรมไม่ได้ งดออกความเห็นคดี 7 ตุลาฯ กรณี ป.ป.ช.มีมติยื่นฟ้อง “สุชาติ” เพียงคนเดียว แต่แนะให้ถามนักกฎหมายว่าผู้กระทำผิดกับผู้สั่งการ มีผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร เผย ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นจนจบ รู้ปัญหาเกิดจากอะไร แต่ไม่อยู่ในสถานะที่จะพูดได้
วันนี้ (31 ส.ค.) นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา และ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ NEWS HOUR ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่องนิวส์วัน ถึงกรณีที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติยื่นอุทธรณ์คดี 7 ต.ค. 2551 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ยื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว คือ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.จำเลยที่ 4 เท่านั้น
โดยนายอุดมกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนั้น สามารถยื่นแสดงความจำเป็น เพื่อให้ขยายเวลาออกไปได้ โดยอาศัยกฎหมายหลักวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรม เพราะเวลาที่กำหนดเป็นประมาณการไว้ เหมือนคดีทั่วๆไป ทั้งแพ่งและอาญาก็มีการขยายเวลามากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะคดีที่มีความยุ่งยาก ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่ผ่านมา กกต. บอกจัดเลือกตั้งไม่ทันขอขยายเวลา รัฐบาลไม่ยอม ต่อมา กกต.เลยยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็บอกว่าขยายได้
นายอุดม กล่าวอีกว่า ตนเคยมีข้อแย้งกับผู้พิพากษาท่านอื่นๆ ว่า เวลาทำคำพิพากษาท่านใช้เวลาเป็น 1-2 เดือน แล้วอ่านกัน 3-4 ชั่วโมง แล้วจะให้มาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน อ่านอาจไม่เข้าใจเลย แล้วคนอุทธรณ์ไม่ว่าโจทก์หรือจำลย ต้องค้นคว้าคำวินิจฉัยมาศึกษาทั้งหมดว่ามีข้อโต้แย้งอย่างไร ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ถามผู้พิพากษาว่าถ้าเป็นท่านทำทันหรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่ทัน แล้วแปลกฎหมายให้เขาทำ แบบนี้ไม่อำนวยความยุติธรรม แต่เป็นการตัดรอนความยุติธรรม ตนเชื่อว่า หลักการแปลอย่างนี้ ไม่ว่ากฎหมายใดเหนือกว่าความยุติธรรมไม่ได้
เมื่อถามถึงคดี 7 ตุลาฯ ว่า จำเลยเป็นนายกฯ, รองนายกฯ, ผบ.ตร. และผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ป.ป.ช. แบ่งให้ 3 ท่านแรกเป็นฝ่ายนโยบาย และให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นฝ่ายปฏิบัติเพียงคนเดียว และยื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว ดุลพินิจแบบนี้มีปัญหาไหม นายอุดมกล่าวว่า ตนติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นจนจบ ก็รู้ที่มาที่ไป ปัญหาเกิดจากใคร เกิดจากอะไร แต่ตนไม่อยู่ในสถานะที่จะพูดได้ เพราะเป็นเบื้องลึก เบื้องหลัง เบื้องลับ เพื่อผลประโยชน์ทางคดีที่ต่างฝ่ายต่างฉกฉวยให้เกิดขึ้นตามต้องการ ตนแนะนำให้ไปถามนักกฎหมายว่าตัวการกระทำผิด ผู้ใช้ ผู้สบับสนุน ผลทางกฎหมายเป็นอย่างไร ต้องศึกษาจากผู้มีความรู้ทางอาญาโดยตรง ตนพูดไม่ได้เพราะจะกระทบการทำหน้าที่ของแต่ละองค์กร ไม่ขอออกความเห็น