xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ส่อถอย หลังพรรคการเมืองโวยเพิ่มโทษทุจริตไพรมารีโหวตถึงขั้นยุบพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
พรรคการเมืองรุมค้านเพิ่มโทษทุจริตไพรมารีโหวตถึงขั้นยุบพรรค ชี้ขัด รธน. “นิพิฏฐ์” จ่อชง “มาร์ค” ทำหนังสือทักท้วง ระบุเขียน กม.สร้างหัวหน้าพรรคตัวปลอมเพียบ เหตุไม่มีใครกล้านั่ง กก.บห. “นิกร” ขู่เดินหน้าส่งศาล รธน.ตีความ โฆษก กรธ.เตรียมนำความเห็นพรรคการเมืองเข้าที่ประชุมสามฝ่าย ส่อถอยปมยุบพรรค

วันนี้ (20 ก.ค.) จากกรณีที่ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้หารือนอกรอบกับตัวแทนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีข้อสรุปเบื้องต้นในการปรับเนื้อหาใหม่โดยให้การจัดทำไพรมารีโหวตเป็นกิจการภายในของพรรคการเมืองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แต่มีการเพิ่มบทลงโทษการกระทำผิดใน 3 ประเด็น คือ กรณีดำเนินการไม่ครบตามขั้นตอน หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี หากมีการสัญญาว่าจะให้ คุกคาม ใส่ร้ายด้วยข้อความเป็นเท็จ จูงใจให้คนเข้าใจผิดในคะแนนนิยม มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ หากทำผิดในกรณีเรียกรับผลประโยชน์มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และยุบพรรค โดยเตรียมที่จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการสามฝ่ายแล้วนั้น ทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาทักท้วงเนื่องจากเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นยุบพรรค

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การนำเอาโทษอาญาและการเมืองมาใส่ไว้ในขั้นตอนไพรมารีโหวต เทียบเคียงกับการเลือกตั้งนั้นถือเป็นหายนะทางการเมือง เพราะระบบไพรมารีโหวตเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเริ่มเป็นครั้งแรก ควรให้พรรคการเมืองดำเนินการและมีพัฒนาการตามธรรมชาติ แต่ถ้าเริ่มทำแล้วมีบทลงโทษอาญา ยุบพรรค ก็จะเป็นการสนับสนุนพรรคการเมืองที่ไม่สุจริต ซึ่งจะมีการตั้งตัวปลอมมาบริหารส่วนตัวจริงเป็นมาสเตอร์มายด์ชักใยอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้เป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการทำลายพรรคการเมืองอย่างรุนแรง ทำให้แตกแยกตั้งแต่ในระดับพื้นที่ โดยในพรรคจะได้มีการหารือกัน และเห็นว่าจำเป็นต้องเสนอความเห็นแย้งไปยังกรรมาธิการสามฝ่ายให้ทบทวนเรื่องนี้

“พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คัดค้านระบบไพรมารีโหวต เราทดลองทำมาก่อนแล้วแต่มีปัญหา หากจะให้ดำเนินการก็ควรค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่มากำหนดบทลงโทษรุนแรงตั้งแต่ต้น ถ้ากฎหมายออกมากดหัวกันอย่างนี้ผมคนหนึ่งที่จะไม่รับตำแหน่งรองหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคอีก เพราะมีความเสี่ยงในเรื่องโทษอาญาอีกทั้งยังเป็นเรื่องที่กลั่นแกล้งกันได้ด้วย และเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ไม่สุจริตก็จะส่งตัวปลอมไปเป็นผู้บริหารแทน ทำให้พรรคการเมืองไม่ใช่ของจริงในระบบการเมืองอีกต่อไป ส่วนคนสุจริตก็จะหมดกำลังใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆ ต่อการพัฒนาพรรคการเมือง การกำหนดให้โทษให้การทำผิดของบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคก็ขัดรัฐธรรมนูญด้วย ผมจะเสนอให้หัวหน้าพรรคทำความเห็นทักท้วงไปยังกรรมาธิการสามฝ่ายต่อไป” นายนิพิฏฐ์กล่าว

ด้านนายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การกำหนดบทลงโทษกรณีกระทำผิดในขั้นตอนไพรมารีโหวตโดยมีทั้งโทษอาญาและตัดสิทธิการเมืองเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่ถึงขั้นที่กำหนดให้ความผิดเฉพาะตัวบุคคลเป็นเหตุให้ยุบพรรคด้วยนั้นน่าจะขัดรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าเมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมสามฝ่ายแล้วประเด็นดังกล่าวจะตกไป เพราะ กรธ.ไม่น่าจะยอมให้ผ่านเนื่องจากขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ไม่ต้องการให้การยุบพรรคทำได้โดยง่าย จึงบัญญัติเหตุแห่งการยุบพรรคไว้เฉพาะกรณีกระทำผิดต่อรัฐในเรื่องการกระทำผิดเพื่อให้ได้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายก็จะใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่นอนเพราะขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ.ระบุว่า กรรมาธิการร่วมจะรับฟังคำทักท้วงของพรรคการเมืองเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยมีความเป็นไปได้ที่จะทบทวนกรณีการยุบพรรค เพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนาให้ยุบพรรคยากขึ้นเนื่องจากถือว่าเป็นโทษประหารทางการเมือง ส่วนการเพิ่มโทษอาญาและโทษทางการเมืองไว้ในการทำผิดชั้นไพรมารีโหวตเทียบเท่ากับการทุจริตเลือกตั้งนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค รวมทั้งผู้ที่กระทำผิด และไม่คิดว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายที่เกินไปกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น