xs
xsm
sm
md
lg

19 พรรคเล็ก ร้องขอไพรมารีโหวตเป็นเรื่องภายใน “สุรชัย” งงข่าวเพิ่มโทษยุบพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตัวแทน 19 พรรคเล็กยื่นหนังสือ สนช.ขอไพรมารีโหวตเป็นเรื่องภายใน “สุรชัย” แปลกใจปมเพิ่มโทษยุบพรรค ยันไม่อยู่ใน 5 ข้อโต้แย้ง งงเอาข่าวมาจากไหน ขออย่าเดากันไปเอง แย้มไพรมารีโหวตถ้าเป็น่สวนหนึ่งของเลือกตั้ง กกต.ต้องเข้าไปดู ขอเวลาศึกษาก่อน



วันนี้ (20 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ ในฐานะประธานกลุ่มปฏิรูปการเมืองยุคใหม่ ยื่นหนังสือต่อ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อเสนอแนะ 4 ประเด็น ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่คณะกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย หลังจากประชุมพรรคเล็ก 19 พรรค โดยมีมติประกอบด้วย 1. ในการทำไพรมารีโหวต ควรให้พรรคการเมืองดำเนินการเองทุกขั้นตอนจะสะดวกขึ้น 2. การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องอำนวยความสะดวก และโอนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในการทำกิจกรรมด้วย 3. ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเขียนยกเลิกในบทเฉพาะกาล และ 4. ขอให้ คสช. และนายกรัฐมนตรี ยืนยันการเลือกตั้งตามโรดแมป ปี 2561 นายสุรชัยกล่าวว่า ในการประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย วันที่ 25 ก.ค.นี้ ตนจะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวเข้าพิจารณาด้วย ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กมธ. แต่หลักการที่ใช้เป็นแนวทางการทำงานมาตลอด คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมทางการเมือง ผ่านการเป็นสมาชิกพรรค และทำอย่างไรที่จะให้พรรคการเมืองได้รับการส่งเสริม เพื่อพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองที่เข็มแข็งต่อไป

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวถึงการตั้ง กมธ.ร่วมร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะใช้ข้อโต้แย้งของ กรธ.เป็นหลักว่ามีประเด็นใดที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จะศึกษาเป็นรายประเด็น ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของที่ประชุม กมธ.ร่วมฯ ถ้าที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งก็จะนำไปสู่การปรับปรุงบทบัญญัติที่ได้ผ่าน วาระสามของที่ประชุม สนช.ไปแล้ว แต่ถ้าเห็นว่าข้อโต้แย้งไม่มีเหตุผลรับฟัง จะคงตามร่างเดิมของ สนช. ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะรับไว้ไปพิจารณาต่อไปว่าตรงกับประเด็นที่ กรธ.โต้แย้งหรือไม่ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรือไม่ ถ้ามีจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขได้ ถ้าไม่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถไปแก้ไขได้ เป็นกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 267

เมื่อถามถึงกรณีมีข้อเสนอว่าหากเกิดการทุจริตในขั้นตอนไพรมารีโหวตของพรรค อาจมีโทษแรงถึงยุบพรรคนั้น นายสุรชัยกล่าวว่า ตรงนั้นไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ กรธ.โต้แย้งมา ร่างเดิมที่ผ่าน สนช.ไม่มีโทษของขั้นตอนไพรมารีโหวต ตนไม่รู้ข่าวมาได้อย่างไร หากสมมติว่า ข้อเสนอดังกล่าว สนช.เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยง และทาง กรธ.โต้แย้งมาว่าการทุจริตในขั้นตอนไพรมารีโหวตไม่ได้กำหนดโทษ และที่ประชุม กมธ.ร่วมฯ เห็นควรให้เพิ่มเติมโทษ ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปศึกษากันอีกอาทิเรื่องอัตราโทษ โดยที่สุด จะถูกตัดสินด้วยที่ประชุม สนช. อย่าเพิ่งไปคาดเดา กมธ.ร่วมฯ ยังไม่ได้เริ่มปรึกษากันเลย

เมื่อถามว่า หากมีการระบุว่าไพรมารีโหวตเป็นเรื่องภายในพรรคการเมือง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง แล้วใครจะเป็นผู้รักษากฎหมาย นายสุรชัยกล่าวว่า ถือเป็นโจทย์ที่เราต้องช่วยกันคิดออกแบบ ขณะนี้มีอยู่ 2 แนวคิด 1. ให้เป็นกิจการภายในของพรรคบริหารจัดการกันเอง หรือ 2. ควรให้ กกต.เข้าไปช่วยดูแลรับผิดชอบ ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง เท่ากับว่าไพรมารีโหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้งซึ่งเป็นกรอบอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ถ้าหากไม่นับว่าไพรมารีโหวตเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเลือกตั้ง กกต.ไม่มีสิทธิเข้าไปเกี่ยวข้อง ขอเวลาไปศึกษาแลกเปลี่ยนกันก่อน ตนพูดคนเดียวเดี๋ยวจะหาว่ายังไม่เริ่มประชุมเลยก็มีความเห็นแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น