เมืองไทย 360 องศา
เชื่อว่าสำหรับคอการเมืองที่อ่านเกมขาด คงตลกขบขันหัวร่อกันท้องแข็ง เมื่อเห็นความพยายามเคลื่อนไหวของคนในพรรคเพื่อไทย ที่ยังพยายามดิ้นรนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นการพิจารณาคดีลับหลัง โดยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พวกเขาซึ่งเป็นระดับแกนนำพรรคจำนวน 5 คน คือ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายโภคิน พลกุล นายชูศักดิ์ ศิรินิล และ นายนพดล ปัทมะ ได้ร่วมกันแถลงคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างแข็งขัน
โดยพวกเขาอ่านแถลงการณ์อ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ ขัดต่อหลักการความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ เป็นการขัดต่อหลักยุติธรรมสากล โดยเฉพาะการบังคับย้อนหลังขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างชัดเจน
“พรรคเพื่อไทยตระหนักว่า การทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เป็นภัยร้ายแรงของชาติ และเห็นด้วยต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบ แต่ต้องยึดหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศโดยเคร่งครัด มิเช่นนั้น จะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอาญาอย่างร้ายแรง และไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ซึ่งพรรคจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอไปยังองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธมนุษยชน เพื่อพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกัน จะทำหนังสือไปยังนายกฯเพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย” แถลงการณ์ตอนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย ระบุ
เป็นไงบ้างฟังแล้วดูดีไม่ใช่หรือกลการอ้างอิงถึงหลังนิติธรรมสากล หลักการในเรื่องความเสมอภาค ในเรื่องหลักมนุษยชนที่นานาชาติให้การยอมรับ ซึ่งมันก็ไม่ผิดเป็นเรื่องที่ดีหากบรรดานักการเมืองในประเทศคำนึงถึงเรื่องแบบนี้ รังเกียจเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน พิจารณาหรือฟังกันแบบเผินๆ ก็น่าจะเคลิบเคลิ้มไปด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาให้ละเอียด ก็จะเห็นเป้าหมายของคนพวกนี้ที่ “ซ่อนเร้น” เอาไว้ได้ไม่ยาก และไม่มีอะไรที่ซับซ้อนแม้แต่น้อย เพราะเหตุผลเดียวที่มองเห็น คือ พวกเขาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องประโยชน์ของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริง รวมไปถึงอาจรองรับประโยชน์ในทางคดีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของ ทักษิณ ที่คดีอาญาในศาลกำลังงวดเข้ามาทุกขณะแล้ว
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวถือว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากสังคมที่ต้องการเห็นการจัดการกับปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบของพวกนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะพวกที่หลบหนีคดีไปต่างประเทศ จนทำให้หลายคดีต้องถูกศาล “จำหน่ายคดีชั่วคราว” ทำให้มีความชะงักงัน หรือบางคนแม้ว่าคดีถึงที่สุดมีคำพิพากษาไปแล้วแต่หลบหนีจนหมดอายุความโทษจำคุกก็บังคับไม่ได้
แต่สำหรับกฎหมายใหม่นี้สาระสำคัญ คือ สามารถพิจารณาคดี “ลับหลัง” จำเลยได้ อย่างไรก็ดี ยังสามารถเปิดทางให้มีการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เช่น การแต่งตั้งทนายแก้ต่างได้เต็มที่ รวมทั้งอุทธรณ์ได้ด้วย และที่สำคัญ การพิจารณาคดีลับหลังได้นั้นต้องผ่านการถูกออกหมาจับไปแล้ว 3 เดือน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจำเลยมีเจตนาหลบหนี ไม่ยอมมาต่อสู้คดีโดยการมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล นอกจากนี้ “วิธีพิจารณาความ” ยังส่งผลให้นักการเมืองกระอัก สรุปความหมายรวมๆ ก็คือ แม้ว่าจะไม่มีผลย้อนหลังกับคดีที่ศาลตัดสินพิพพากษาไปแล้วก็จริงอยู่ แต่สำหรับโทษจำคุกนั้นหากจับกุมตัวได้ในภายหลังก็จะไม่มีการนับอายุความ ต้องติดคุกอย่างเดียว ถ้าหนีก็ต้องหนีตลอดชีวิต
ซึ่งจะว่าไปแล้ว มันก็น่าจะยุติธรรมดี ทั้งคนที่มีเจตนาหนี และสำหรับชาวบ้านที่อยากเห็นการจัดการกับปัญหาทุจริต การใช้อำนาจมิชอบของพวกนักการเมือง ที่ถือว่าต่อไปนี้หมดทางเลี่ยงแล้ว
แน่นอนว่า หากมีการสำรวจความเห็นของประชาชนทั่วไป เชื่อว่า ต้องการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ยกเว้นไปถามพวกนักการเมืองบางพวก ซึ่งก็น่าจะรวมถึงพวกพรรคเพื่อไทยบางคน ที่คนพวกนี้เคยรวมหัวกันออกหมาย “นิรโทษสุดซอย” หมกเม็ดช่วย ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากความผิดจนเป็นสาเหตุให้เกิดการประท้วงขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว
ขณะเดียวกัน นาทีนี้หากพิจารณาจากการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ตามรูปการณ์แล้วก็ไม่น่ามีปัญหาชักช้าอะไรนัก
อย่างไรก็ดี หากพูดถึงผลกระทบแล้ว แน่นอนสำหรับคนที่หลบหนีคดี หรือใช้ช่องทางอายุความเพื่อเตะถ่วง รวมไปถึงการรอลุ้นใช้อำนาจทางการเมืองในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายเหมือนกับที่เคยมีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษฯสุดซอย มันก็ไม่ง่ายอีกต่อไป หรือแทบเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเหตุการ์เฉพาะหน้ามันย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับ ทักษิณ ชินวัตร แบบช่วยไม่ได้ เพราะเขาเลือกที่จะหนีคดี ไม่ยอมมาพิสูจน์ตัวเอง ดังนั้น หากเลือกเส้นทางหลบหนีก็ต้องหนีตลอดชีวิต ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีคดีสำคัญ คือ คดีรับจำนำข้าวในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่งวดเข้ามาแล้ว นั่นคือ ในวันที่ 21 กรกฎาคม นี้ จะมีการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้ายแล้ว มันก็น่าหวาดเสียว แต่ถึงอย่างไรนาทีนี้เธอก็เลือกที่จะสู้คดีในชั้นศาล
ดังนั้น หากย้อนกลับไปพิจารณาจากความเคลื่อนไหวของบรรดาสมาชิกพรรคเพื่อไทยดังกล่าวข้างต้น อีกมุมหนึ่งมันก็อาจดูน่าตลก เพราะดูสวนทางกับความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการจัดการกับพวกนักการเมืองโกงให้เด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมา สำหรับพวกข้าราชการทุจริตก็มีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤตมิชอบกลาง หรือที่เรียกว่า “ศาลปราบโกง” ที่ดำเนินการให้เห็นกันไปแล้ว เมื่อมาเจอกับกฎหมายฉบับใหม่ที่ดัดหลังแบบปิดทางเลี่ยงแบบนี้ก็ถือว่า “ครบวงจร” ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งของเขาก็อาจมองได้เหมือนกันว่า นี่คือ การการแสดงบทบาทให้ “นาย” เห็นว่า
พวกเขาได้พยายามเต็มที่แล้ว ส่วนจะได้ผลแค่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง !!