xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ยัน กม.คดีอาญานักการเมืองไม่ฟันย้อนหลังแต่คดีชะงักเดินต่อได้ เผยชงตั้งแต่ยุค “แม้ว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี แจงกฎหมายคดีอาญานักการเมืองไม่มีผลคดีมีคำพิพากษาแล้ว และฟันย้อนหลัง แต่คดีชะงักสามารถเดินต่อได้ พร้อมพิจารณาหากเพื่อไทยยื่นชงศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำเป็นไปตามหลักสากล ระบุไม่ได้มุ่งเล่นงาน “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” แต่ “แม้ว” เป็นตัวอย่างของพฤติการณ์ เผยเคยเสนอมาตั้งแต่ยุคไทยรักไทย

วันนี้ (20 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 12.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทย ยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... ว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยืนยันแล้วว่าได้ตรวจสอบแล้วทั้งหลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน แต่ส่วนตัวยังไม่ได้ดูตัวกฎหมายดังกล่าวอย่างละเอียด ซึ่งประเด็นที่สังคมถกเถียงกันมาก คือ กฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ย้อนหลังหรือไม่ ทั้งนี้ หลักที่ยึดถือมาโดยตลอดเป็นเช่นเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ระบุ โดยกฎหมายอาญาจะไม่มีผลย้อนหลังหรือเพิ่มโทษ แต่กฎหมายแพ่ง และกฎหมายวิธีพิจารณาคดี สามารถมีผลย้อนหลังได้ในบางกรณี ยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง 2 ประเด็น คือ 1. คดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว 2. ไม่มีผลย้อนหลังเพื่อเพิ่มโทษ แต่คดีที่เริ่มกระบวนการไปแล้วซึ่งยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถพิจารณาต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยยื่นให้นายกฯ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทางรัฐบาลก็จะนำมาพิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่าร่างกฎหมายดังกล่าวสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้จำเลยได้ ถูกมองว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล นายวิษณุกล่าวว่า ที่จริงเรื่องนี้เป็นไปตามหลักสากล เป็นการพิจารณาลับหลังในเฉพาะกรณีที่จำเลยหลบหนี จากเดิมที่ไม่สามารถพิจารณาลับหลังได้เลย เพราะต้องเปิดโอกาสให้จำเลยได้ซักค้านพยานของอีกฝ่าย ต่อมาเมื่อเห็นว่ามีทนายมาซักค้านแล้ว จำเลยจึงไม่จำเป็นต้องมาที่ศาลก็ได้ โดยศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้ โดยลับหลังในที่นี้คือให้โอกาสจำเลยเดินทางมาศาลหรือไม่ก็ได้

“ภายหลังมาเจอประเภทจำเลยหนี ซึ่งหลักกฎหมายคือพิจารณาไม่ได้ และหลายประเทศจึงได้เปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้แก้ไขกฎหมายในหลายฉบับ เช่น วิธีพิจารณาคดีทุจริต กำหนดว่าถ้าหนีต้องออกหมายจับ ถ้าจับไม่ได้ ก็สามารถพิจารณาลับหลังได้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

เมื่อถามอีกว่า พรรคเพื่อไทยวิจารณ์ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมุ่งไปที่ตัวอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันว่าไม่ใช่อย่างนั้น แต่ทางพรรคเพื่อไทยอาจจะเข้าใจอย่างนั้น ทั้งนี้ ในอดีตเคยมีกรณีที่ขอประกันตัวแล้วหลบหนีเป็นจำนวนมาก ทำให้คดีหยุดชะงัก และยิ่งเป็นคดีที่มีผู้กระทำผิดหลายคนก็จะยิ่งทำให้ยุ่งยาก จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีบทเรียนจากหลายคดี จึงได้นำมาสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และในหลายประเทศก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีของอดีตนายกฯ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ว่ามีพฤติการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้น แต่เรื่องเหล่านี้ได้มีการคิดกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาคิด เพราะเมื่อครั้งที่จนเป็นรองนายกฯ ครั้งแรกในสมัยที่นายทักษิณเป็นนายกฯ ก็มีการเสนอ

นอกจากนี้ นายวิษณุยังให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกระบวนการพิจารณาคดีจำนำข้าวว่า มาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ว่า ถือเป็นสิทธิของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาว่าสมควรต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลเห็นสมควรต้องยื่นตีความ การสืบพยานต้องดำเนินต่อไป แต่ยังพิพากษาไม่ได้ ต้องรอคำวินิจฉัย

เมื่อถามว่า หากผลวินิจฉัยระบุว่ามาตรา 5 ขัดรัฐธรรมนูญ หลักฐานใหม่ที่อัยการยื่นเพิ่มเติมต้องเอาออกจากสำนวนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หากศาลบอกว่าขัดก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เมื่อถามว่าจะทำให้กระบวนการพิจารณาล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กระบวนการมันต้องเป็นเช่นนั้น เมื่อเราให้โอกาสเขา ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ไม่โทษกันว่าช้า เป็นเรื่องกระบวนการ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับว่าศาลจะรับคำร้องและส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น