ไม่เข้าใจว่า ทำไมนักกฎหมายหลายท่านโดยเฉพาะฝั่งที่สนับสนุนทักษิณจึงมองว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ......ที่ให้พิจารณาลับหลังนักการเมืองที่หลบหนีคดีได้เป็นการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา
รวมทั้งมีรายงานข่าวว่า ตัวแทนศาลยุติธรรมในกรรมาธิการเองก็ท้วงติงว่าอาจขัดต่อหลักกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง เพื่ออำนวยความยุติธรรมตามหลักกระบวนการพิจารณาคดีอาญา
คำถามว่าเราควรต้องอำนวยความยุติธรรมต่อผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีหรือ แล้วเราไม่อำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายหรืออย่างไร
แม้ว่าโดยหลักการแล้วการพิจารณคดีต่อหน้าจำเลยเป็นหลักประกันสิทธิของจำเลยในการต่อสู้คดี เป็นสิทธิที่จะได้เผชิญหน้ากับพยาน (Right to Confront Witness) เพื่อจำเลยจะได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของพยาน นั่นคือการประกันสิทธิ “โดยชอบ” ของจำเลย แต่การหลบหนีของจำเลยเป็นการปฏิเสธสิทธิของตัวเอง การที่ตัวเองหลบหนีไม่มาฟังการพิจารณาคดี เพื่อให้ศาลไม่สามารถพิจารณาคดีได้ จึงเป็นหลักการที่ “ไม่ชอบ” และไม่เป็นธรรมกับความเสียหายที่จำเลยได้ก่อขึ้นต่อรัฐและสังคม
หลักการเผชิญหน้ากับพยานมันจะชอบและเป็นสิทธิที่ชอบธรรมก็ต่อเมื่อจำเลยไม่ได้หลบหนีคดีไม่น่าจะใช้กับจำเลยที่หลบหนีคดีได้ โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าอายุความในการหลบหนีเพื่อให้พ้นผิดที่เขียนไว้ในกฎหมายอาญามาตรา 95 และมาตรา 98นั้นน่าจะขัดกับหลักความยุติธรรมด้วยซ้ำไป
เพียงแต่มันกลายเป็นเรื่องที่ “ชอบ” เพราะกฎหมายเขียนไว้ให้ทำผิดได้
หลักคิดที่บัญญัติเรื่อง “อายุความ” ไว้ ก็คือว่า การปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปย่อมยากแก่การพิสูจน์ความผิดทั้งพยานหลักฐานต่างๆ อาจมีการผิดพลาดได้ถ้าฟ้องช้าไป พยานอาจลืมข้อเท็จจริงที่ประสบเหตุเพราะความทรงจำของคนเราสามารถลืมเลือนได้ตามกาลเวลา และมีความเชื่อว่า ถ้าผู้กระทำผิดต้องหลบหนีซ่อนตัวอยู่เป็นเวลานาน ย่อมเป็นความทุกข์ทรมานเพียงพออยู่แล้ว
นั่นหมายความว่า เป้าหมายของ “อายุความ” ก็คือต้องการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยเร็วซึ่งเป็นประโยชน์กับผู้เสียหาย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคนละความหมายกับผู้กระทำผิดจงใจหลบหนีเพื่อไม่ให้การดำเนินคดีเดินหน้าไปได้เมื่อนำหลักการ “อายุความ” มาใช้กลับเป็นคุณต่อผู้ต้องหาที่จงใจหลบหนีซึ่งกลายเป็นหลักความยุติธรรมที่แปลก
โดยเฉพาะกรณีของนักการเมืองนั้น ผู้เสียหายเป็นประเทศชาติและประชาชน เป็นคดีที่รุนแรงมากกว่าการก่ออาชญากรรมทั่วไป เพราะเป็นอาชญากรรมต่อประเทศชาติ ไม่เข้าใจเหมือนกันนะครับว่า ทำไมเราต้องปกป้อง
สิทธิของนักการเมืองที่จงใจหลบหนีโดยอ้างว่าเพื่ออำนวยความยุติธรรมแล้วปล่อยให้คนทำผิดใช้สิทธิเรื่อง “อายุความ” เป็นทางรอด
พูดกันตามความเป็นจริงการอ้างสิทธิของจำเลยที่จะหลบหนีเพื่อให้หยุดการพิจารณาคดีไปจนหมดอายุความเป็นการอ้างสิทธิที่ไม่ชอบ เพราะเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้เสียหายไปในตัวด้วย เราจะคิดแต่อำนวยความยุติธรรมให้ผู้ถูกกล่าวหาแล้วไม่คิดถึงการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายคือประเทศชาติและประชาชนบ้างหรือ
อย่าว่าแต่คดีนักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาโกงแผ่นดินเลย เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวทำนองว่ามีผู้ต้องหาฆ่าคนตายที่บุรีรัมย์หลบหนีคดีไป 20 ปีจนหมดอายุความ แล้วกลับมาเยาะเย้ยญาติผู้ตายว่าฆ่าคนตายไม่ติดคุก ถามครับว่าสิทธิของฝ่ายไหนที่ควรได้ปกป้องมากกว่ากัน
คดีอาญานักการเมืองนั้นเป็นคดีโกงบ้านเมือง จำเลยนักการเมืองมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลบารมีมีเงินรอนที่จะหลบไปอยู่ต่างประเทศ และก็มีตัวอย่างอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็น ทักษิณ วัฒนา อัศวเหม หรือประชา มาลีนนท์ ถามว่าคนเหล่านี้มีความทุกข์ทรมานในการหลบหนีเหรอครับ เขาถูกตัดออกจากสังคมเหรอครับ แล้วอย่างนี้กฎหมายควรปกป้อง “สิทธิที่จะหนี” เหรอครับ
แล้ว “สิทธิที่จะหนี” มันกลายเป็นส่วนที่หนึ่งของกระบวนการยุติธรรมได้ด้วยเหรอ
นอกจากนั้นในปัจจุบันความทรงจำของคนเราไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมองคนเพียงอย่างเดียว เพราะมันได้ถูกบันทึกไว้ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย การฉ้อฉลทุจริตของนักการเมือง ถูกบันทึกไว้ด้วยเอกสารอย่างเป็นระบบเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ มีกล้องบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ เอาไว้ ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนกว่าความทรงจำของมนุษย์ด้วยซ้ำไป
แล้วถามว่าหากอ้างสิทธิในการเผชิญหน้า (Right to confront witness) เพื่อคัดค้านพิจารณาคดีลับหลังนักการเมืองที่หนีคดี ทำไมไม่คิดว่าเวลานักการเมืองหนีศาลแล้วจ้างทนายมาฟ้องคนอื่นโดยที่ตัวเองไม่มาศาล ก็ละเมิดสิทธิในการเผชิญหน้าเหมือนกัน เพราะจำเลยหมดโอกาสในการซักโจทย์น่าจะเรียกร้องให้แก้กฎหมายห้ามคนหนีศาลมาไล่ฟ้องคนอื่นด้วย
เป็นเรื่องแปลกไหมละครับ นักโทษหนีคดีหนีคำพิพากษาใช้สิทธิล่องลอยอยู่ในโลกอย่างสุขสบาย ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ “อายุความ” ที่ต้องทนทุกข์ทรมานเลย การหนียังเป็นการปฏิเสธไม่ยอมรับเขตอำนาจของศาลในกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย แต่กลับได้รับอนุญาตให้สามารถแต่งทนายมาฟ้องใครต่อใครในศาลไทยได้อีก โดยที่ตัวเองไม่ต้องมาศาล และอย่างนี้สิทธิในการเผชิญหน้ากับโจทย์ของจำเลยที่ถูกนักโทษหนีคดีแต่งตั้งทนายมาฟ้องหายไปไหน ทำไมศาลไม่รอการพิจารณาจนกว่านักโทษหนีคดีจะพ้นจากคนนอกกฎหมายกลับมายอมรับอำนาจศาลเสียก่อน
ซึ่งเป็นไปตามหลักภาษาละตินว่า Extra legend positus est civiliter mortuus
ถามว่าโดยสามัญสำนึกแล้วผู้ต้องหาหลบหนีคดีนั้น เกิดจากอะไรบ้าง สิ่งแรกก็คือ เพราะรู้ตัวว่ากระทำผิดจึงกลัวการถูกลงโทษ แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาเราต้องมีเหตุผลที่สองตามมาคือ เพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่เชื่อว่าตัวเองจะได้รับความยุติธรรมซึ่งแสดงว่าเชื่อว่าตัวเองไม่ผิด
ผมถามต่อว่าคนที่คัดค้านไม่ให้พิจารณาลับหลังผู้ต้องหาคดีการเมืองที่หลบหนีมีความคิดมาจากเหตุผลอะไร ถ้าเหตุว่าเพราะผิดจึงหนีเราก็ยิ่งจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ใช้ “อายุความ” เป็นประโยชน์ได้ แต่ถ้าเราเชื่อว่า เขาหนีเพราะกลัวความไม่ยุติธรรม สิ่งที่เราต้องกลับไปมองก็คือความยุติธรรมในบ้านเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ เมื่อมีข่าวว่า “ศาล” เองก็คัดค้านก็เป็นคำถามว่าศาลก็ยอมรับในเรื่องนี้หรือ
แน่นอนว่า หลักกระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่ต้องไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาโดยตรงเพื่ออำนวยความยุติธรรมตามหลักกระบวนการพิจารณาคดีอาญานั้นเป็นสิ่งจำเป็น แต่มันน่าจะใช้กับความเป็นธรรมในสภาพปกติ แต่การจงใจหลบหนีการพิจารณาคดีแล้วเราจะ “อำนวยยุติธรรม” ให้ติดตัวเขาไปตลอด “อายุความ” ที่กฎหมายเปิดช่องไว้ให้ก็เป็นเรื่องแปลกนะ
เพราะในคดีอาญานักการเมือง ผู้เสียหายคือประเทศชาติและประชาชน ถามว่า “สิทธิที่จะหนีไป” ตามอายุความในกฎหมายอาญานั้นมันอยู่เหนือกว่าความยุติธรรมต่อผู้เสียหายคือประเทศชาติและประชาชนหรือ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan