xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อย่าเพิ่งดีใจ ศาลปกครองไม่รับฟ้องถอนอายัดค่าโง่คลองด่าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนกลุ่มกิจการร่าวมค้า  NVPSKG ยื่น ปปง.ขอเพิกถอนการอายัดสิทธิรับเงินค่าชดเชยการเลิกสัญญาบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2559
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา มีข่าวดีเล็กๆ สำหรับประชาชนที่ยังไม่ต้องสูญเสียเงินภาษีให้เป็น “ค่าโง่” แก่เอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน สมุทรปราการ

เมื่อศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ไม่รับคำฟ้องที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และพวกรวม 6 ราย ที่เป็นคู่สัญญากับกรมควบคุมมลพิษในโครงการก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ ยื่นฟ้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คณะกรรมการธุรกรรม เลขาธิการ ปปง. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ให้ธนาคารอายัดเงินในบัญชี หรือระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ฟ้องคดีทั้งหก

ศาลให้เหตุผลว่า ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 วรรคสี่ ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 ออกตามความใน พ.ร.บ.ปปง.ฯ ข้อ 1. กำหนดว่า การขอเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามมาตรา 48 วรรคสี่ ให้ผู้ทำธุรกรรมซึ่งถูกสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง.พร้อมหลักฐานที่แสดงว่าเงินหรือทรัพย์สินในการทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทั้ง 6 บริษัทยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ไม่พบว่าทั้ง 6 บริษัทได้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง.พร้อมหลักฐานที่แสดงว่า เงินหรือทรัพย์สินในการทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงเป็นกรณีที่ทั้ง 6 บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายไว้โดยเฉพาะ ตามมาตรา 42 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดังนั้นที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องด้วย

ที่มาที่ไปของคำสั่งนี้ ต้องย้อนหลังกลับไปมากกว่าสิบปี เมื่อรัฐบาลโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 หลังจากพบว่ามีการทุจริตในหลายขั้นตอนของโครงการ สร้างความเสียหายแก่รัฐหลายหมื่นล้านบาท

และเมื่อรัฐบาลยกเลิกโครงการ กลุ่มบริษัทเอกชน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด, บริษัท ประยูรวิศว์ จำกัด, บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด, บริษัท เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด และบริษัท สมุทรปราการ ออพเปอร์เรทติ้ง จำกัด ที่ร่วมกันใช้ชื่อ กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างโครงการดังกล่าว ได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 9 พันกว่าล้านบาท โดยอ้างว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ่ายค่างวดงาน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการก็ชี้ขาดตามคำร้องของฝ่ายเอกชน คือให้รัฐจ่ายค่าเสียหายตามจำนวนดังกล่าว

หลังจากนั้น กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองเพื่อมีคำสั่งให้รัฐบาลจ่ายค่าเสียหาย จนเรื่องไปยุติที่ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 ให้รัฐบาลจ่ายค่าเสียหายตามที่เอกชนยื่นฟ้อง

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรี(ครม.)รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้กรมควบคุมมลพิษ จ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด

งวดแรกจ่ายร้อยละ 40 กำหนดจ่ายวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 เป็นเงิน 3,174,581,566.04 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จำนวน 21,717,855.40 ดอลลาร์ รวมทั้ง 2 ยอดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4 พันล้านบาท

งวดที่ 2 กำหนดจ่ายอีกร้อยละ 30 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 16,288,391.55 ดอลลาร์ ภายในวันที่ 21 พฤษภาคม 2559

งวดที่ 3 กำหนดจ่ายร้อยละ 30 เป็นเงิน 2,380,936,174.53 บาท และเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 16,288,391.55 ดอลลาร์ ภายในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559

เงินชดเชยงวดแรก ถูกจ่ายให้แก่กลุ่มบริษัทร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ตามกำหนดเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558

แต่ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินงวดที่ 2 วันที่ 27 เมษายน 2559 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงาน ปปง.ใช้อำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินงวดที่สอง

วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. ครั้งที่ 7/2559 จึงมีมติให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ในการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากโครงการออกแบบร่วมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามข้อตกลงที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องจ่ายให้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG จำนวน 2 งวด โดยให้มีผลในวันที่ครบกำหนดชำระในแต่ละงวด

เนื่องจากมีเหตุอันควรน่าเชื่อว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ซึ่งเข้ายึดถือ ครอบครอง และแสวงประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เป็นคลองสาธารณะที่ลุ่มน้ำทะเลท่วมถึง และเป็นที่ทิ้งขยะของทางราชการ ที่ออกโฉนดมาโดยมิชอบ เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติหรือกระบวนการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันมีลักษณะในทางการค้า อันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (15) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

นอกจากนี้ กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG กับพวก ยังได้มีส่วนร่วมเป็นผู้สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ และได้รับประโยชน์ที่เป็นทรัพย์สิน จากการกระทำความผิดมูลฐานเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ราชการของนายวัฒนา อัศวเหม กับพวก และนายปกิต กิระพานิช กับพวกซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามคำพิพากษาศาลอาญาในคดีอาญาหมายเลขแดง ที่ อ.4197/2558 ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2558 อันเป็นความผิดมูลฐาน ตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

หลังจาก ปปง.มีมติให้อายัดสิทธิของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ในการรับเงินชดเชยค่าเสียหายอีก 2 งวดที่เหลือแล้ว ครม.ก็มีมติเห็นพ้องให้ชะลอการจ่ายเงิน 2 งวดดังกล่าวออกไปก่อน

ต่อมา วันที่ 13 มิถุนายน 2559 กลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG ได้ส่งตัวแทน ยื่นหลังสือต่อ ปปง.ขอเพิกถอนการอายัดเงินชดเชย 2 งวดที่เหลือ โดยอ้างว่า ทางกลุ่มไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น

ไม่เพียงแต่การอายัดสิทธิการรับเงินชดเชย 2 งวดดังกล่าวเท่านั้น เมื่อ ปปง.ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ ดีเอสไอ.ให้ดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงินกับ 6 บริษัท และ 1 บุคคล ที่ได้รับเงินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในงวดที่ 1 เนื่องจากเป็นเงินที่ได้ไปจากการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต และได้อายัดเงินในบัญชีของ NVPSKG มูลค่ากว่า 97 ล้านบาท พร้อมดอกผลอีก 8 หมื่นบาท และได้อายัดเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2559

เป็นเหตุให้ กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดเงินดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งที่มิชอบ

แต่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้อง กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ จึงยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนดังกล่าว

คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด อาจจุดประกายความหวังที่รัฐบาลจะไม่ต้องเสียค่าโง่โครงการบ่อบำบัดนำเสียงคลองด่านขึ้นมาได้บ้าง

แต่จากการที่ศาลปกครองเคยมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ไม่รับคำขอพิจารณาพิพากษาคดี “ค่าโง่คลองด่าน” ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ยื่นร้องขอให้พิจารณาใหม่ ก็ทำให้ความหวังที่ว่านี้ ยังเป็นความหวังที่เลื่อนลอยต่อไป

ทั้งนี้ สตง.ได้ยื่นร้องให้พิจารณาคดีใหม่ โดยยกเอาคำพิพากษาของศาลอาญา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2558 ที่ระบุตอนหนึ่งว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ได้สัญญาไปโดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าคดีของศาลอาญายังไม่สิ้นสุด ยังเหลือชั้นอุทธรณ์ และฎีกา นอกจากนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสีย หรืออาจจะถูกกระทบโดยตรงจากผลแห่งคดีที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองรับไว้พิจารณา

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 16 มกาคมที่ผ่านมา ก็ระบุเหตุผล เป็นกรณีที่ทั้ง 6 บริษัทยังไม่ได้ทำตามขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหาย นั่นคือยังไม่ได้ยื่นคำขอต่อเลขาธิการ ปปง.พร้อมหลักฐานที่แสดงว่า เงินหรือทรัพย์สินในการทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

นั่นแสดงว่า หากกลุ่มบริษัทร่วมค้าฯ ทำตามขั้นตอนดังกล่าว ก็มีโอกาสที่ศาลปกครองจะรับฟ้อง เพื่อพิจารณาให้มีการเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น