xs
xsm
sm
md
lg

มติ สนช.ผ่านร่าง กม.ลูกพิจารณาความอาญานักการเมือง ให้พิพากษาลับหลังได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช.ถกร่างกฎหมายลูกวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง “ธานี” ถามไม่ให้สิทธิ์จำเลยในการพิจารณาคดีลับหลัง ส่อขัดหลักสากลและ รธน.หรือไม่ ด้าน ปธ.กมธ.วิฯ อ้างหลักพิจารณาคดีต่อหน้าใช้ไม่ได้กับผู้มีอิทธิพลทาง ศก.และการเมือง ยันตั้งทนายมาสู้แถมขอรื้อคดีหลังพิพากษาก็ได้ ยันศาลสิทธิมนุษยชนยอมรับ ขณะที่ กรธ.เชื่อกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพขึ้น เพื่อจัดการพวกหนีคดี ก่อนมีมติผ่านเอกฉันท์ 176 เสียง

วันนี้ (13 ก.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ... โดยสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสอบถามถึงความชัดเจนในมาตรา 26-27 ว่าด้วยการให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลยว่าการกำหนดไว้เช่นนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นจำเลยหรือไม่ เพราะโดยหลักทั่วไปของการพิจารณาคดีอาญาจะต้องไต่สวนคดีต่อหน้าจำเลย ไม่อาจไต่สวนลับหลังจำเลยได้

นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิก สนช.อภิปรายว่า ระบบวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยได้วางหลักการมาตลอดว่าการพิจารณาคดีต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ไม่ใช่การพิจารณาลับหลัง ซึ่งเป็นไปตามหลักสากล ขณะเดียวกัน การพิจารณาคดีลับหลังจะเป็นสิทธิของจำเลยในการร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 172 และมาตรา 172 ทวิ แต่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกำหนดไว้ตรงข้าม โดยไม่ให้การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเป็นสิทธิของจำเลย ขอให้อธิบายให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยเป็นอย่างไร และกฎหมายฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกติกาสิทธิพลเมืองที่ยูเอ็นได้รับรองไว้หรือไม่

ด้านนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง สมาชิก สนช.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ชี้แจงว่า โดยหลักทั่วไปการพิจารณาคดีจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยเพื่อให้สิทธิในการสู้คดีแก่จำเลยอย่างเต็มที่ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการดำเนินคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการทุจริตเป็นการเฉพาะ โดยการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไป เช่น มีการวางแผนก่อนจะกระทำความผิด มีเครือข่ายในการกระทำความผิด มีการตระเตรียมในการกระทำความผิด อันเป็นการทำให้ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐาน

“ระบบเดิม คือ การมีตัวจำเลยมาพิจารณาคดี แต่ต่อมาจำเลยหลบคดีหนีระหว่างการพิจารณาของศาล ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาคดีต้องหยุด จนทำให้คดีขาดอายุความในการดำเนินคดีอาญา ทำให้ผู้กระทำความผิดที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมือง ต้องหลุดพ้นจากความรับผิดที่ได้กระทำไว้ ดังนั้น หลักการพิจารณาต่อหน้าจำเลยจึงใช้กับคนทั่วไปแต่ใช้ไม่ได้กับผู้มีอิทธิพล” นายภัทรศักดิ์กล่าว

นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่มีการกังวลว่าการให้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยนั้นเป็นขัดต่อหลักสากลหรือไม่ ขอยืนยันว่าไม่ได้ขัดต่อหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะกติกาที่ว่าด้วยสิทธิของความเป็นพลเมืองในเรื่องการได้รับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาลก็มีข้อยกเว้นอยู่ กล่าวคือ การพิจารณาคดีลับหลังจำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พยายามนำตัวจำเลยมาแล้วและออกหมายจับ แต่ไม่ได้ตัวจำเลยมา ถือว่าจำเลยสละสิทธิในการรับการพิจารณาคดีต่อหน้าศาล

“อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย แต่จำเลยสามารถแต่งตั้งทนายความมาต่อสู้คดีได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ศาลที่พิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว จำเลยก็สามารถขอรื้อฟื้นคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ซึ่งเป็นหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งศาลสิทธิมนุษยชนก็ให้การยอมรับ” นายภัทรศักดิ์กล่าว

ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า คดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความสามารถในการหลบหนีเพื่อให้รอดพ้นจากอำนาจของรัฐในการที่จะอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการยุติธรรมตามระบบเดิมคงไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ดังนั้น การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สามารถฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวเลย หรือให้ศาลสามารถดำเนินคดีไปได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลยเป็นแนวความคิดที่ต้องการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยไม่เป็นการตัดสิทธิของจำเลยที่ไม่ได้อยู่ในศาล เพราะจำเลยยังสามารถตั้งทนายความมาสู้คดีได้

“ชาวบ้านทั่วไปอยู่ภายใต้อำนาจของกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่เราจะทำอย่างไรกับคนที่หลบหนีและจงใจไม่อยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม จึงเป็นเรื่องที่กฎหมายต้องการสร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมแท้จริง” นายอุดมกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติเอกฉันท์ 176 คะแนนเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.แล้วให้กับศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น