xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้า คสช.งัด ม.44 ให้ชาวบ้านรุกล้ำลำน้ำแจ้งเจ้าท่า 60 วัน ส่งหลักฐานถิ่นอาศัยใน 180 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย ม.44 แก้ พ.ร.บ. เดินเรือ ขยายเวลาให้ชาวบ้านแจ้งรุกล้ำลำน้ำ 60 วัน ให้เวลา 180 วัน หาหลักฐานส่งเจ้าท่า ก่อนใช้เวลาอีก 180 วัน พิจารณาให้อยู่ต่อหรือรื้อถอน บอกค่าเช่าถูกกว่าเดิม ชี้ คนอาศัยก่อนปี 15 ให้มาแจ้งเพื่อขออนุญาต ส่วนพวกอยู่หลังกฎหมายใช้ 3 กติกาดูให้อยู่ต่อหรือไม่

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งมาตรา 44 แก้ไขปัญหาตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ว่า ในส่วนของระยะเวลา ที่อนุญาตให้ 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน ที่ให้ประชาชนเข้าแจ้งว่า มีการรุกล้ำลำน้ำ โดยขยายไปอีก 60 วัน และมีเวลาอีก 180 วัน เพื่อไปหาหลักฐานว่าเข้าไปอยู่ตั้งแต่เมื่อไหร่ อย่างไร ได้รับอนุญาตจากใคร หลังจากนั้น นำข้อมูลส่งกรมเจ้าท่าแล้ว จะใช้เวลาอีก 180 วัน พิจารณาว่าจะให้อยู่ต่อหรือจะต้องรื้อถอนหรือไม่ ซึ่งในช่วงระยะเวลาทั้งหมดนี้จะไม่มีโทษ ขณะที่อัตราค่าเช่าจะถูกกว่ากฎหมายฉบับเดิม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับประชาชน

ทั้งนี้ มีกำหนดเพิ่มเติมว่าประชาชน หรือกลุ่มบุคคลใดที่ปลูกสร้างอาคารสถานที่รุกล้ำลำน้ำ ก่อนปี 2515 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มกำหนดกฎหมายนี้ โดยผู้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี และ สมุทรปราการ จะต้องมาแจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อขออนุญาต ขณะที่พื้นที่อื่นให้มาแจ้งเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นบัญชีคุมให้เกิดความเป็นระเบียบ ส่วนกรณีที่รุกล้ำเข้ามาหลังปี 2515 จนถึงปี 2537 จะพิจารณาว่าจะให้อยู่หรือย้ายออกไป โดยมีกฎกติกา 3 ข้อ คือ 1. สิ่งที่รุกล้ำนั้นจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ หรือทำให้ทางน้ำเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 2. ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรตามวัตถุประสงค์ และ 3. จะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายการควบคุมอาคาร หรือกฎหมายผังเมือง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (4 ก.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำ มีใจความว่า โดยที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา แต่ข้อเท็จจริงได้ปรากฏให้เห็นถึงปัญหา ด้านความพร้อมในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งปัญหาด้านความรับรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน เพื่อไม่ให้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคมโดยรวม ทั้งในด้านการประกอบอาชีพโดยเฉพาะในภาคการเกษตรและการอยู่อาศัยของประชาชนริมน้ำ ซึ่งเป็นวิถีชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนผลกระทบต่อผู้อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายที่ตราขึ้นใน พ.ศ. 2515 และ พ.ศ. 2537 จึงจําเป็นต้องขยายระยะเวลาการดําเนินการตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายกระทบต่อสภาพและวิถีในการดํารงชีวิตโดยปกติของประชาชนให้น้อยที่สุดอันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ 1. เพื่อประโยชน์ในการควบคุมไม่ให้มีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำอีกต่อไป ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต แจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงการฝ่าฝืนหรือการปลูกสร้างซึ่งไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ผู้ที่แจ้งภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวได้รับยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครองสําหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ข้อ 2. เมื่อได้ดําเนินการตามข้อ 1. แล้ว ให้บุคคลดังกล่าวยื่นเอกสาร หรือหลักฐานแสดงการครอบครอง หรือการได้รับอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาต่อเจ้าท่าภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่แจ้ง และให้เจ้าท่ามีคําสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตเป็นหนังสือภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งตามข้อ 1. การยื่นเอกสารหรือหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาต และขั้นตอนในการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด โดยให้คํานึงถึงช่วงเวลาในการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำผลกระทบ และภาระที่เกิดขึ้นต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ลักษณะโดยสภาพและความปลอดภัยของการใช้สิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำ สภาพวิถีการดํารงชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ และผลกระทบต่อทางน้ำสิ่งแวดล้อม หรือประโยชน์สาธารณะในการสัญจรทางน้ำ

ในการพิจารณาอนุญาตสําหรับอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ และการกําหนดลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ตามข้อ 1. ให้เจ้าท่านําหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่กรณีเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่ได้สร้างอยู่ก่อนกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ให้เจ้าท่าเป็นผู้พิจารณาอนุญาตตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด

ในกรณีที่มีปัญหาในการนําหลักเกณฑ์และวิธีการตามวรรคสามมาใช้บังคับและมีความจําเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ ให้กรมเจ้าท่าเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้วินิจฉัยปัญหาหรือสั่งการตามที่เห็นสมควร คําวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เป็นที่สุด

ข้อ 3. ในกรณีที่เจ้าท่ามีคําสั่งอนุญาตแต่ให้มีการแก้ไข หรือมีคําสั่งไม่อนุญาตและให้รื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวดําเนินการแก้ไข หรือรื้อถอนอาคาร หรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากําหนด ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่ดําเนินการแก้ไขหรือรื้อถอนให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เจ้าท่ากําหนดจะต้องระวางโทษตามที่กําหนดในมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560

ข้อ 4. ในกรณีที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดเป็นกรณีที่อาจอนุญาตได้ตามมาตรา 118 ทวิ วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 เจ้าท่าจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองก็ได้ และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วให้ชําระค่าตอบแทนรายปีตามอัตราที่กําหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ไปพลางก่อน เว้นแต่กรณีอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด จนกว่าจะมีกฎกระทรวงกําหนดวิธีการและอัตราการเสียค่าตอบแทนซึ่งออกตามความในมาตรา 117 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560

ข้อ 5. ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินการตามกฎหมาย หรือคําสั่งนี้ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ หรือกระทําหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ในกรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทํา การเพิกเฉย หรือละเลยไม่กระทําการ หรืองดเว้นกระทําการของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใด ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอํานาจสั่งบรรจุของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นดําเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

ข้อ 6. เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่ได้แจ้งเจ้าท่าทราบตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 และเจ้าของหรือผู้ครอบครองก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ใช้บังคับที่ได้แจ้งก่อนวันที่คําสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นผู้แจ้งตามข้อ 1. และให้ดําเนินการตามข้อ 2. ของคําสั่งนี้ต่อไป

ข้อ 7. ในกรณีที่เห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้

ข้อ 8. คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น