สปท.ผ่านแผนคุมสื่อออนไลน์ เพื่อลดความรุนแรงทางสังคม ชง 2 แนวทางปฏิรูป จัดระเบียบลงทะเบียนซิมการ์ดมือถือสแกนหน้า-นิ้วมือ พร้อมตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูล ใช้มาตรการภาษีคุมเข้ม วางโทษออนไลน์ต่างชาติ ที่เป็นภัยเยาวชน สมาชิกห่วงกระทบสิทธิฯ ศูนย์ควานหาเจ้าของมือถือเข้าข่ายขี่ช้างจับตั๊กแตน
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานเรื่องผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการสื่อสารมวลชน นำเสนอรายงานตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็วจนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่กลับมีการใช้ที่ไม่เหมาะสม ผู้ใช้สื่อขาดความรู้เท่าทัน ขาดความรู้และความเข้าใจในการใช้สิทธิเสรีภาพการสื่อสารบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือขาดมาตรฐานจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ ขาดประสิทธิภาพในการกำกับดูแลจากผู้ที่เกี่ยวข้องจนส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสถาบันหลักของประเทศ
จากนั้น พล.ต.ต.พสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานฯ กล่าวว่า สิ่งที่น่าวิตกในปัจจุบัน คือ สื่อกระแสหลักได้นำสื่อออนไลน์มาใช้แข่งขันในการนำเสนอข่าว จนลืมนึกถึงการกำหนดวาระทางสังคม ที่ผ่านมาทำให้ฆาตกรฆ่าหั่นศพ กลายเป็นเน็ตไอดอล ทางกรรมาธิการฯได้เสนอแนวทางปฏิรูป แบ่งเป็น 2 ระยะ 1. ระยะเร่งด่วนที่ต้องทำให้แล้วเสร็จในปี 2562 อาทิ การเพิ่มมาตรการจัดระเบียบการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือโดยเฉพาะระบบเติมเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กสทช.ควรมีมาตรการเสริมการจัดระเบียบการลงทะเบียน โทรศัพท์มือถือประเภทเติมเงินที่จะใช้ลายนิ้วมือ ใบหน้า ควบคู่กับการลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือด้วยบัตรประชาชน
นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ รวมถึงกำหนดให้ระบบจัดเก็บข้อมูลของบริการ CDN (Content Delivery Network) และ Caching Server ของสื่อออนไลน์ต่างประเทศที่ติดตั้งในประเทศต้องขึ้นทะเบียนการให้บริการกับ กสทช. และต้องกำหนดให้จัดเก็บ log เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนทางคดี โดย กสทช.ประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมทั้งการเร่งรัดให้ใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ให้บริการสื่อออนไลน์ต่างประเทศโดยเร็ว เพื่อใช้ควบคู่กับการบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีผู้บริโภค กับการใช้โฆษณาหรือการซื้อขายผ่านสื่อออนไลน์ให้เป็นจริง โดยกรมสรรพากรเป็นเจ้าภาพหลัก
2. สำหรับแนวทางปฏิรูปในระยะยาว ที่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับช่วงเวลาของแผนยุทธศาสตร์ ชาติ 20 ปี อาทิ การเสริมสร้างปลุกจิตสำนึกที่ดีมีจริยธรรมในการใช้สื่อออนไลน์ การให้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี การสร้างภูมิคุ้มกัน และความตระหนักรู้ รวมถึงการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ควรร่วมกับ สตช. โดย บก.ปอท.ในการพิจารณาหามาตรการการลงโทษปรับเจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ ที่ได้ปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ถูกละเมิดด้วยความรุนแรง หรือปล่อยให้มีการเผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะชักชวนหรือโน้มน้าวให้นำไปสู่การกระทำที่รุนแรง หวาดกลัวอย่างมากกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เพื่อให้เจ้าของสื่อออนไลน์ต่างประเทศ เช่น เฟสบุ๊ค ยูทูป มีส่วนร่วมรับผิดชอบในฐานะเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ทำให้เกิดการแพร่หลายของเนื้อหาดังกล่าว
ทั้งนี้ สมาชิก สปท.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนรายงานดังกล่าว แต่ได้ตั้งข้อสังเกตอาจมีบางมาตรการที่ไปกระทบต่อสิทธิมนุษยชน โดยนายกษิต ภิรมย์ สมาชิก สปท.กล่าวว่า เวลานี้มีการก่ออาชญากรรมในโลกออนไลน์อยู่ทั่วไป เรียกได้ว่ามีผู้ร้ายทั้งในและนอกประเทศโดยดำเนินการผ่านสื่อออนไลน์ แต่ปัญหาของไทย คือ ไม่มีระบบปฏิบัติการหรือเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง การที่ไทยจะไปเจรจากับบริษัท กูเกิล หรือแอปเปิล ต้องยอมรับเป็นไปได้ลำบากเพราะอำนาจต่อรองของประเทศไทยไม่่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขา ดังนั้น เราต้องสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความร่วมมือให้มากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชน เพราะถ้าให้หน่วยงานรัฐดำเนินการฝ่ายเดียว มันจะเหมือนกับการขี่ช้างจับตั๊กแตน จึงอยากให้ทบทวนทั้งหมด เพราะรายงานจับไม่ได้ว่าหัวใจของเรื่องที่จะแก้ไขปัญหาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างไร
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท.กล่าวว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ประชาชนต้องสแกนลายนิ้วมือและใบหน้าในระหว่างการซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่เหมือนกับการทำหนังสือเดินทาง ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีประเทศใดใช้แนวทางนี้อยู่บ้าง เข้าใจว่าเป็นแนวความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาในพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่หากนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ทั้งประเทศ จะเป็นการดำเนินการเกินสมควรหรือไม่ และจะขัดต่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่อย่างไร และการตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อดูว่าใครป็นเจ้าของบ้าง คิดว่าเป็นข้อเสนอที่อาจเหมือนการขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะปัจจุบันผู้ให้บริหารได้มีการให้ผู้ใช้ทำการลงทะเบียนและมีการควบคุมผู้ใช้อยู่แล้ว หากให้ กสทช.มาตั้งศูนย์ขึ้นมาอีก จะต้องใช้คนและเครื่องมือจำนวนมาก และสิ้นเปลือง ซับซ้อน จนทำให้ไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่
ด้าน พล.ต.ต.พิสิษฐ์ชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ การแสดงตัวตนของผู้ใช้โทรศัพท์ให้เป็นข้อมูลไว้ โดยไม่ได้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะที่จะทำให้บุคคลก็ได้เข้ามาตรวจสอบ แต่เป็นการเสนอให้กสทช.ต้องกำหนดให้มีการลงทะเบียนทั้งซิมการ์ดและหมายเลขเครื่องในโทรศัพท์ เพื่อให้มีการควบคุมเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่ประชุม สปท.มีมติ 144 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบกับรายงานฉบับดังกล่าว และจะส่งรายงานฉบับนี้ไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป