สปท.พิจารณารายงานปฏิรูปงานรัฐสภา ไม่ให้ใช้ภาษีแจกโน้ตบุ๊ก กำหนดบทลงโทษจริยธรรม ให้ ปธ.สภาฯ ไม่ต้องมาจากพรรคเสียงข้างมาก สมาชิกติงดูงานต่างประเทศยังจำเป็นไม่ควรตัดหมด โวยยกเลิกหลักสูตร ส.พระปกเกล้า “กษิต” แฉบางคนไปดูงานก็ไม่จริงจัง ส่วนบางพวกเป็นนักล่าประกาศนียบัตร ไม่เห็นนำมาใช้ประโยชน์ “เสรี” ยันไม่แก้ ก่อนที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 88 ต่อ 12 งดออกเสียง 48
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อพิจารณารายงานการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ มีสาระสำคัญ อาทิ การเสนอให้ตัดการจัดสรรงบประมาณเดินทางไปดูงานต่างประเทศของ ส.ส.และ ส.ว. เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการเดินทางไปท่องเที่ยว ไม่ใช่การดูงาน โดยใช้ภาษีประชาชน การเสนอไม่ให้แจกคอมพิวเตอร์แบบพกพาแก่สมาชิกรัฐสภา การกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของสมาชิกรัฐสภาให้มีความชัดเจนและมีบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น การเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก รวมถึงการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.สถาบันพระปกเกล้า พ.ศ. 2541 ให้สถาบันพระปกเกล้าเป็นหน่วยงานทางวิชาการในการช่วยงานรัฐสภาเป็นสำคัญ อีกทั้งให้จัดหลักสูตรทางวิชาการเฉพาะสมาชิกรัฐสภาและตัวแทนพรรคการเมืองเท่านั้น โดยให้ยกเลิกหลักสูตรอื่นๆ ที่สร้างคอนเนกชันเชื่อมโยงกับนักการเมือง ผู้มีอำนาจ องค์กรอิสระ ที่สร้างความเหลื่อมล้ำให้ประชาชนที่ต้องวิ่งเต้น ใช้เส้นสายเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ
ทั้งนี้ สมาชิก สปท.บางส่วนอภิปรายท้วงติงการตัดงบประมาณดูงานต่างประเทศ โดยเห็นว่าการดูงานต่างประเทศยังมีความจำเป็นอยู่ ไม่ควรตัดทิ้งทั้งหมด ควรพิจารณาเห็นชอบเป็นกรณีไป ขณะที่สมาชิก สปท.หลายคนท้วงติงเนื้อหารายงานที่เสนอให้สถาบันพระปกเกล้ายกเลิกการจัดหลักสูตรต่างๆ ของสถาบัน โดยเห็นว่าสถาบันแห่งนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย การให้บุคคลไปศึกษาหลักสูตรต่างๆ นั้นมีประโยชน์ การจะตัดออกไปเช่นนี้โดยอ้างถึงเรื่องคอนเนกชันต่างๆ จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียได้ ซึ่งนายกษิต ภิรมย์ รองประธาน สปท.ด้านการเมืองชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเวลาคณะกรรมาธิการไปดูงานก็ไม่ได้ไปแบบจริงจังหรือเพื่อศึกษาหาความรู้อย่างแท้จริง หลายคนก็รู้แก่ใจว่าจัดเพื่อไปเที่ยวทั้งนั้น เช่น เวลาไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ของประเทศเขาก็ต้อนรับคณะเดินทางจากไทยอย่างเต็มที่ แต่คณะของไทยก็ไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจัง ออกอาการกระสับกระส่าย อยากจะให้จบเร็วๆ เพราะภรรยารอไปชอปปิ้ง ดังนั้นหากจะไปดูงานก็ควรจะเป็นการดูงานอย่างแท้จริง
ส่วนการจัดหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้านั้น นายกษิตชี้แจงว่า หลายหลักสูตรที่ระบุว่าเป็นการส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยนั้น ถามว่าไปเทียบกับประเทศใด ถ้าเป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่านำไปเปรียบเทียบ เพราะเป็นการชมตัวเอง โดยเฉพาะการคัดเลือกคนที่เข้าไปเรียนหลักสูตรต่างๆ ไม่ได้เข้าไปเรียน แต่เป็นนักล่าประกาศนียบัตร หรือไปหาคอนเนกชัน บางคนเรียนเกือบทุกหลักสูตรเวียนอยู่อย่างนั้น คิดว่าเรียนแค่หลักสูตร วปอ.ก็พอแล้ว และเมื่อไปอบรมมาไม่เห็นนำใช้ประโยชน์ หรือพัฒนาประชาธิปไตย การเมืองไทยถึงได้เน่าเฟะ ทำให้ต้องมีการปฏิรูปขณะนี้ จึงอยากให้สถาบันพระปกเกล้าพัฒนาตรวจสอบคุณสมบัติว่าจะเข้ามาเรียนเพื่ออะไร อยากให้คนที่มาเรียนสถาบันพระปกเกล้านำความรู้มาพัฒนาส่งเสริมงานของรัฐสภาได้ ไม่ใช่คนเดียวเรียนหลายหลักสูตรเหมือนทุกวันนี้
ในช่วงท้ายการประชุม ก่อนที่จะมีการลงมติ มีสมาชิก สปท.48 คน ขอให้ กมธ.นำเนื้อหารายงานดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้า ทาง กมธ.ควรนำไปปรับปรุงให้เป็นไปตามรายงานสถาบันพระปกเกล้าปี 2554 แต่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน สปท.การเมือง ยืนกรานจะไม่ปรับปรุงเนื้อหารายงาน ขณะที่นายศิริชัย ไม้งาม สมาชิก สปท.เสนอญัตติให้แยกโหวตเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้าออกมาต่างหากจากรายงานฉบับนี้ ทำให้ น.ส.วลัยลักษณ์ ศรีอรุณ รองประธาน สปท.ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม พยายามไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่าย ในที่สุดนายศิริชัยจึงยอมถอนญัตติ ก่อนที่จะมีการลงมติ โดยนายเสรีระบุว่าจะนำเนื้อหาเฉพาะในส่วนที่ดีไปปรับปรุง แต่ส่วนไม่ดีจะไม่หยิบมา
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สปท.ได้มีเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 88 ต่อ 12 งดออกเสียง 48 ส่งเรื่องให้ ครม.รับไปดำเนินการพิจารณาต่อไป