ประชุม สปท. พิจารณารายงานปฏิรูปการปฏิบัติงานรัฐสภา เสนอหั่นทิ้งงบดูงาน ตปท. พร้อมให้ ปธ.สภา ไม่จำเป็นต้องมาจากเสียงข้างมาก “เลิศรัตน์” ค้านขัดหลักสากล นัดถกครั้งต่อไป 3 ก.ค. “นิกร” ประกาศลาออกอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานการปฏิรูปการปฏิบัติงานในรัฐสภา ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. มีสาระสำคัญการปฏิรูปการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาให้เกิดประสิทธิภาพ และการปฏิรูปสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ให้เกิดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่สนับสนุนฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีข้อเสนอแนะการปฏิรูปที่น่าสนใจ อาทิ การยกเลิกการจัดสรรงบ ประมาณการศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ เพราะเป็นการใช้ภาษีประชาชนแฝงไปท่องเที่ยว โดยไม่ได้ไปดูงานจริงๆ การยกเลิกการแจกคอมพิวเตอร์แบบพกพาแก่สมาชิกรัฐสภา การให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องมาจากพรรคการเมืองเสียงข้างมาก เพื่อไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง การกำหนดบทลงโทษสมาชิกรัฐสภาที่กระทำผิดมาตรฐานจริยธรรมให้รุนแรงมากขึ้นเช่น มีโทษปรับ 100,000 - 500,000 บาท นอกจากการว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน
นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในสมัยรัฐบาลเลือกตั้งตั้งแต่ปี 54 - 57 มีค่าใช้จ่ายการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนฯ จำนวน 35 คณะๆ ละ 5 ล้านบาทต่อปี หรือรวมทั้งหมด 175 ล้านบาทต่อปี ขณะที่การเดินทางไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ตกปีละ 75 ล้านบาทต่อปี รวม 2 สภา ใช้งบประมาณดูงานต่างประเทศตกปีละ 250 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วสมาชิกรัฐสภาแต่ละคนมีงบดูงานต่างประเทศคนละ 300,000 บาทต่อปี แต่ละคนจะได้ไปดูงานต่างประเทศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อย่างมากปีละ 4 ครั้ง ผิดกับสมัยรัฐบาลปัจจุบันตั้งแต่ปี 58 - 60 รวมไปถึงงบประมาณรายจ่ายปี 2561 ไม่มีงบประมาณดูงานต่างประเทศเลย ช่วยประหยัดงบประมาณประเทศได้ 1,000 ล้านบาท แล้วประเทศไทยเจริญน้อยลงหรือไม่ แม้งบดูงานต่างประเทศจะมีความจำเป็น แต่ควรให้งบประมาณเป็นกรณีๆ ไปจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ขณะที่ผู้อภิปรายได้มีการแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย และเห็นตรงกันในหลักการที่ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐสภา ให้เป็นไปตามหลักสากลตามมาตรฐานของสหภาพรัฐสภา ขณะที่ความเห็นแย้งบางส่วน อย่าง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิก สปท. เห็นว่า การให้ประธานสภา ไม่จำเป็นต้องมาจากเสียงข้างมากเป็นการขัดหลักสากล
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีสมาชิก สปท. อภิปรายเป็นจำนวนมาก แต่การประชุมจำต้องปิดเวลา 16.30 น. เนื่องจากติดภารกิจ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงขอเลี่อนให้สมาชิกไปอภิปรายรายงานฉบับดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 3 ก.ค. นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายก่อนปิดการประชุม สปท. นายนิกร จำนง สปท. ได้แจ้งเรื่องการลาออกต่อที่ประชุม สปท. ด้วย