ชาติไทยพัฒนา ส่งตัวแทน ยื่นหนังสือ กรธ. ร้อง ทบทวนไพรมารีโหวต ร่ายยาวผลกระทบที่เกิด พร้อมชี้ คำสั่ง คสช. งดประชุมพรรค ส่งผลระบบคัดเลือกผู้สมัคร ด้าน “ชาติชาย” เผย จ่อหารือ สนช. หาทางออก
วันนี้ (26 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายพิสิษฐ์ พิทยาฐากุลเจริญ นายทะเบียนสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ได้รับมอบหมายจาก นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค ชทพ. เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อคัดค้านและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้น และการส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคการเมือง หรือ ไพรมารีโหวต เพราะเห็นว่า ระบบดังกล่าวอาจส่งผลที่ทำให้สิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ทั้งที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกพรรค ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งผู้ที่จะสมัครที่เป็นคนดีมีคุณธรรม ซื่อสัตย์จนเป็นที่ประจักษ์และเป็นเคารพรักโดยทั่วไปในเขตเลือกตั้ง รวมทั้งอาจส่งผลไปถึงคะแนนรวมที่จะนำมาคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อได้ เนื่องจากการลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้งใบเดียว ต้องนำคะแนนดังกล่าวมารวมคำนวณจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น เช่น กระบวนการและขั้นตอนที่ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเกิดความลักลั่นไม่เท่าเทียมกัน บางคนได้มาจากในเขตเลือกตั้งของตนเอง ในขณะที่บางคนได้มาจากในเขตเลือกตั้งอื่น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค
โดยรายละเอียดในหนังสือดังกล่าวระบุข้อความจากนายธีระ ว่า ความไม่พร้อมของระบบการคัดเลือกเบื้องต้นจะส่งผลกระทบต่อคะแนนที่จะมาคำนวณ ส.ส. แบบัญชีพรรคอีกด้วย เช่นเดียวกับการกำหนดให้สมาชิกพรรคหนึ่งคนเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 15 คน อาจไม่ได้คนดีมีความรู้ความสามารถมาอยู่ในลำดับต้นๆ เลย เนื่องจากผู้ลงคะแนนไม่รู้จักและคุ้นเคยกับรายชื่อในบัญชีเหล่านั้นมาก่อน จึงไม่สะท้อนความเป็นจริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย นอกจากนั้น จะเกิดความยุ่งยากสับสนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดทำการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นฯ ว่า ค่าใช้จ่ายส่วนใดจะเป็นของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ตาม สิทธิพรรคการเมืองในการเตรียมความพร้อมรองรับระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค (Primary Election) ขณะนี้พรรคการเมืองและนักการเมืองไม่สามารถจัดทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ระบบการคัดเลือกเบื้องต้นฯ เนื่องจากพรรคการเมืองและนักการเมืองมีภารกิจมากมายหลายประการที่ต้องเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมรองรับกับการเลือกตั้งระบบใหม่
นายธีระ ระบุอีกว่า ดังนั้น ขอให้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... หมวด 3 การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง มาตรา 47 เดิมที่เสนอที่ กรธ. และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับมาบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 135/1 แทน โดยตัดข้อความในมาตรา 135/1 ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งเพิ่มไว้ใหม่ทั้งหมด กรธ. และ กกต. ได้ไตร่ตรองจนตกผลึกว่าร่างพระราชบัญญัติฯ มาตราดังกล่าวนั้น มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และไม่ยุ่งลำบากนักที่พรรคการจะปฏิบัติได้ และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะได้ระบบการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้นเพื่อส่งสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค (Primary Election) ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ด้าน นายชาติชาย กล่าวว่า ข้อเสนอและข้อทักท้วงของตัวแทนพรรคการเมืองนั้น ตนจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กรธ. ในช่วงบ่ายวันนี้ (26 มิ.ย.) ส่วนจะนำไปสู่มติของ กรธ. นำส่งความเห็นไปยัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อตั้ง กมธ. ร่วม 3 ฝ่ายหรือไม่นั้น ตนยังตอบไม่ได้ ทั้งนี้ มีหลักการที่ต้องพิจารณา คือ หากบทบัญญัติที่ตัวแทนพรรคการเมืองทักท้วงมีปัญหาทางข้อกฎหมาย กรธ. ต้องหารือเพื่อวางหลักพิจารณากับ สนช. แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติของพรรคการเมือง ต้องให้ กกต. เป็นผู้พิจารณากำหนดระเบียบ หรือขั้นตอนอื่นๆ รองรับ เพราะเรื่องนี้ต้องพิจารณาโดยหลักสำคัญด้วยว่าการบัญญัติกฎหมายใดต้องไม่สร้างปัญหาในทางปฏิบัติด้วย เนื่องจากหลักการของระบบไพรมารีโหวต ที่ให้สมาชิกพรรคหรือตัวแทนพรรคมีส่วนร่วมคัดเลือกผู้สมัครนั้นเป็นสิ่งที่ กรธ. เห็นด้วยและยอมรับ