xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.หนุนตั้งกมธ.3ฝ่ายแก้ปัญหา “ไพรมารีโหวต”ไม่เวิร์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 26-27 มิ.ย. คาดว่า กรธ.จะมีการหารือในประเด็น ไพรมารีโหวต ว่าจะขัดเจตนารมณ์ของรธน.หรือไม่
ทั้งนี้ เชื่อว่า กรธ.อาจจะมีความเห็นทักท้วงในประเด็นว่า ระบบไพมารีโหวต อาจทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ที่จะทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดยาก เพราะไม่สามารถจัดหาผู้สมัครส.ส.ได้ทัน ซึ่งแตกกต่างจากพรรคใหญ่ และพรรคขนาดกลาง อาจเตรียมตัวได้ทัน
"เรามองเห็นถึงปัญหา และจะเพิกเฉยไม่ได้ ทั้งที่มีโอกาสแก้ไข ด้วยการเสนอความเห็นตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย เพียงองค์กรเดียว แต่หากไม่ทำและปล่อยผ่านไป และเกิดปัญหาในอนาคตก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทั้งที่ไม่ใช่แนวคิดของเรา ก็ต้องเป็นจำเลยร่วมอยู่ดี แม้ในเบื้องต้นสนช. และกกต. จะเห็นด้วยกับระบบไพรมารีโหวต แต่เราก็ขอโอกาสเข้าไปชี้แจง และทำความเข้าใจใหม่อีกครั้ง" นายชาติชาย กล่าว และว่า ความเห็นต่างๆ ของพรรคการเมืองต่างๆเกือบทุกพรรคที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับระบบไพรมารีโหวตในขณะนี้ ถือเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ กรธ.เข้าไปแก้ปัญหา เพราะเห็นว่าหากปล่อยออกไป จะเกิดปัญหาแน่
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก จำนวน 7 หน้า ถึง กรธ. เพี่อประกอบการพิจารณา กม.พรรคการเมือง โดยเฉพาะการให้แต่ละพรรคต้องทำการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้น (ไพรมารีโหวต)
นายอภิสิทธิ์ ระบุในจดหมายว่า พรรคปชป. เห็นด้วยกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และสมาชิกพรรคการเมือง ในการบริหารพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ของรธน. การมีบทบัญญัติให้มีการจัดทำไพรมารีโหวต จึงถือเป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมาย ที่จะปฏิบัติตาม รธน. แต่ตนเห็นว่า มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น
1. การจะมีฐานสมาชิกที่กว้างขวาง ยังเป็นเรื่องยาก แม้จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆ แต่ประชาชนจำนวนมาก มีความกังวลกับการเป็นสมาชิกพรรค
2. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรค และสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมาก แต่ปรากฏว่ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองรวมทั้งกฎหมายใหม่ กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงาน และสาขา
3. หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่ง ก็จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอหรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น
4. จากการที่พรรคฯได้ทดลองดำเนินการเมื่อปี 56 ในจ.พระนครศรีอยุธยา ปรากฏว่า ผู้ที่มาใช้สิทธิ์ และผู้ที่ได้รับชัยชนะ มีคะแนนเสียงจำนวนค่อนข้างน้อย โดยกลับเป็นการสะท้อนความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะระดมคนใกล้ชิดของตัวเองให้มาลงคะแนนได้มากกว่า พรรคจึงยังไม่พอใจต่อผลการทดลองที่เกิดขึ้น
"ประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่าการจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองมีคุณค่าตามเจตนารมณ์ของรธน.นั้น ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมด้วย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้าง คงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ในการที่จะดำเนินการในแนวทางนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองอื่นตลอดจนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรงกว่ามากนัก "
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เสนอให้ตั้งกมธ.ร่วมฯ แล้วทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งทางพรรคได้มีข้อเสนอดังนี้
1 . การให้ความสำคัญเบื้องต้นกับการที่พรรคการเมืองจะต้องมีฐานสมาชิกกว้างขวาง เพื่อสามารถมีส่วนร่วม และใช้สิทธิ์ได้โดยอาจจะต้องทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือ มีบทเฉพาะกาล ทอดเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการชำระเงินค่าบำรุง หรือการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น หรือทั้ง 2 เรื่อง
2. การเน้นบทบัญญัติให้การสนับสนุนการมีสมาชิกพรรค และการจัดตั้งสาขาพรรค โดยรัฐต้องพร้อมที่จะจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรค ในเรื่องของการบริหารงานของพรรค มากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และบังคับให้การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรค จะต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจากฐานราก เพื่อมิให้เกิดการครอบงำพรรคการเมืองจากคนจำนวนน้อย
3. หากยืนยันให้มีการจัดไพรมารีโหวต ก็ควรให้ กกต.และรัฐให้การสนับสนุน ตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้ง การดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมด
4. ในกรณีที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่มาก หรือในกรณีที่มีเหตุผลเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องของอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริต ความรู้ความสามารถ ควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจน ให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร หรือคณะกรรมการบริหารพรรค กลั่นกรองตัดสินใจเลือกผู้สมัครตามความเหมาะสมได้
5. ยกเลิกการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น ในการจัดลำดับส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ แต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าว ต้องมีความหลากหลายในเรื่องภาพสัดส่วนหญิง ชาย เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น