xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ย้ำไพรมารีโหวตปัญหาแยะ หาสมาชิกไม่ครบอดส่ง ส.ส.แนะยุบปาร์ตี้ลิสต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรค ปชป. แจงค้านไพรมารีโหวต ไม่ได้ขวางการมีส่วนร่วม ปชช. แต่หวั่นไม่เป็นตามที่คาด เหตุปัญหาเยอะ ชี้ หาสมาชิกพรรคไม่ได้ตามเป้าอดส่งผู้สมัคร ส.ส. ขัดหลักการทุกคะแนนมีความหมาย แนะถ้าใช้กระบวนการเข้มข้น ก็ยุบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปเลย

วันนี้ (21 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการต้องถาม กรณีการสรรหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยระบบไพรมารีโหวต ว่า การที่แสดงความห่วงใย หรือท้วงติงเกี่ยวกับระบบดังกล่าว ไม่ใช่ว่าไม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่การปฏิบัติอาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด เพราะกำหนดการเก็บค่าสมาชิกบำรุงพรรค ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับคนไทยจำนวนมาก อีกทั้งการจัดเลือกตั้งไพรมารีจะต้องมีหน่วยเลือกตั้งเหมือนเวลาเลือกตั้งระดับประเทศ จุดนี้พรรคต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองยังสับสนอยู่มาก เช่น กำหนดให้มีสาขาพรรคประจำเขตเลือกตั้ง แต่หากจังหวัดใดไม่มีสาขาพรรคอนุโลมให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดได้ ปัญหาคือ ถ้าจังหวัดนั้นๆ มีหลายเขตเลือกตั้งจะต้องมีตัวแทนพรรคหลายคนหรือไม่ และการลงคะแนนเป็นอย่างไร ซึ่งคงต้องสอบถามเพื่อความชัดเจนอีกครั้ง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ก่อนจะมีการปฏิวัติเคยทดลองในบางจังหวัดมาแล้ว ซึ่งขณะนั้นสมาชิกยังไม่ต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค ผลปรากฏว่า มีคนเลือกตั้งหลักร้อยไม่ได้ช่วยให้เกิดการมีส่วนร่วมหรือกลั่นกรองผู้สมัครได้ดีขึ้น

“ยกตัวอย่างในจังหวัดระนอง ซึ่งมีเขตเลือกตั้งเดียว เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีสาขาอยู่ และจะส่งส.ส.ระนอง คราวหน้า ก็ต้องไปตั้งสาขา หาสมาชิกมา 500 คน จ่ายเงินร้อยบาท หรือไม่งั้นก็ต้องไปตั้งตัวแทนประจำจังหวัดต้องไปหาสมาชิกมาร้อยคน เมื่อพรรคประชาธิปัตย์จะจัดการลงคะแนนไพรมารี สาขา หรือตัวแทน ที่ในเมืองจังหวัดระนอง วันนั้นจะไปลงคะแนนต้องไปที่อำเภอเมือง ผมถามว่าอำเภออื่นๆ ในจังหวัดระนอง คนจะพร้อมเสียค่ารถไปหรือไม่ แล้วออกเงินค่ารถให้ก็คงไม่ได้ใช่ไหมครับ ก็เป็นปัญหาอีก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า คนเขียนกฎหมายมีความตั้งใจดี แต่ไม่มีประสบการณ์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับกติกาสรรหาตัวผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อนั้น ยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะได้กำหนดให้ 1 คน สามารถเลือกได้ 15 คน แค่เฉพาะผู้บริหารหลักของพรรคก็เกิน 15 คนแล้ว อีกทั้งผู้สมัครที่มาจากจังหวัดใหญ่จะได้เปรียบคนที่มาจากจังหวัดเล็กหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนกฎหมายอาจไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หลักของการมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ คือ จะได้นักการเมืองหน้าใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ แต่ไม่มีความสามารถในพื้นที่ แต่วันนี้ผู้ที่จะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ก็คือ คนที่ต้องสามารถไปหาเสียงกับสมาชิกได้ ซึ่งสวนทางกับความตั้งใจแต่ต้นและถ้า

“ผมอยากจะบอกว่า จริงๆ ถ้าเกิดจะไปแนวทางแบบนี้ ทำไมไม่ไปให้มันสุดก็เลิก ส.ส. บัญชีรายชื่อเลย ให้ทุกคนไปอยู่กับเขต แล้วก็ทำแบบสากลเลยดีไหม สากลนี่คนนอกมาเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ นายกฯ Theresa May อังกฤษที่ปรับ ครม. รอบสุดท้าย มีไฟลต์บังคับก็คือว่า รัฐมนตรีบางคนสอบตกก็ต้องเอาออกเลย เพราะว่าประเพณีเขาไม่มีนะ เอาคนนอกมาเป็นถ้าบอกว่าอยากจะให้มีกระบวนการเข้มข้นก็ไปให้สุดทางเลย หลักการไม่มีใครเถียง แต่ว่าความเป็นจริงมันจะทำให้หลายอย่างอาจจะไม่ออกมาอย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะต้องคิดถึงพรรคการเมืองใหม่ๆ ด้วยว่าเขาจะส่งผู้สมัคร ส.ส. ในระยะเวลาอันค่อนข้างสั้นนี้ เขาจะต้องไปวางหรือทำโครงสร้างสิ่งเหล่านี้ทันการหรือไม่” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ทุกคะแนนของประชาชนมีความหมาย คือ นำไปคำนวณจำนวน ส.ส. ในสภาได้ แต่กลายเป็นว่าอาจจะไม่มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพราะหาสมาชิกที่จะจ่ายเงินเพื่อตั้งสาขา หรือเป็นตัวแทนไม่ได้ หมายความว่า หมดสิทธิ์ส่งตัวผู้สมัคร ส.ส. จะบอกว่า 100 - 500 คนหาไม่ยากนั้น ไม่จริง เพราะต้องใช้เวลาพอสมควรที่พรรคต้องทำความเข้าใจเรื่องเสียค่าสมาชิก และถือว่าหลักการขัดกันเอง อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับนักธุรกิจยังบอกเลยว่าการมาแสดงตัวเป็นสมาชิก หรือผู้สนับสนุนพรรค คนไทยยังมองว่ามีต้นทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น