หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ กฎหมายลูกพรรคการเมืองส่อมีอุปสรรคปมบัญชีรายชื่อ ให้สมาชิกจัดอันดับอาจไม่ได้คนใหม่ เห็นใจพรรคเล็กเร่งตั้งสาขา ผู้แทนจังหวัด สับแนวคิดดี แต่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติจริง ต้องดูขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้าน “นิพิฏฐ์” เชื่อทำพรรคอ่อนแอมากกว่าปฏิรูป คนแพ้อาจแปรไปอยู่พรรคอื่น เตือนสร้างระบบผัวเมียเข้าสู่การเมือง จวกคนร่างเอามาจากนอกไม่ได้ศึกษาภายในเลย
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีการแก้ไขเนื้อหาหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำหนดให้ใช้ระบบไพรมารีโหวต คัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง ว่า เบื้องต้นได้พยายามทำความเข้าใจ เนื่องจากมีการเพิ่มถ้อยคำเข้าไปในภายหลัง ทั้งการที่ให้ผ่านการพิจารณาจากสาขาพรรค จากผู้แทนประจำจังหวัดที่รับผิดชอบในเขตเลือกตั้ง นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคแน่นอน คือ เรื่องระบบบัญชีรายชื่อ เพราะเมื่อเราไปทาบทามคนนอกวงการเมือง ก็ต้องพอที่จะทราบว่าตนเองอยู่ลำดับที่เท่าไหร่ หากอยู่ลำดับร้อยกว่าก็คงไม่มา ซึ่งเมื่อให้สมาชิกเป็นผู้จัดลำดับ สมาชิกอาจจะไม่รู้จักบางคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเมือง ฉะนั้น จะเป็นอุปสรรคในการได้คนใหม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน ยังเห็นใจพรรคขนาดเล็ก เพราะต้องเร่งตั้งสาขาพรรค และผู้แทนประจำจังหวัด จึงต้องทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ แม้จะทราบว่ามีความตั้งใจที่และเป็นแนวคิดที่หวังดี แต่ก็ไม่อยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติจริง และจะส่งผลต่อการสรรหาบุคคลภายนอกเข้าสู่ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย ดังนั้น จึงต้องดูว่าเรื่องดังกล่าวขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเฉพาะในแง่พรรคการเมืองควรจะมีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และคงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปตรวจสอบ อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดกฏหมายออกมาอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แต่จะได้ผลอย่างที่ผู้ร่างตั้งใจหรือไม่ ตนไม่แน่ใจ
ด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงเรื่องเดียวกัน ว่า ถึงโดยส่วนตัวจะเห็นว่าก็เป็นเรื่องที่ดี แต่วัฒนธรรมการเมืองของเราไม่ถึงขั้นนั้น เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้พรรคอ่อนแอ มากกว่าทำให้เกิดการปฏิรูป เพราะว่าความเป็นจริง เวลาคัดเลือกตัวแทนระดับพื้นที่ เวลาแพ้ชนะกัน มันไม่สามัคคีกันก็ขัดแย้งกันแล้ว อีกทั้งไพรมารีในระบบรัฐสภา สมมติมีการหยั่งเสียงจากสมาชิก ประมาณ 1,000 คนก็ต้องมีคนเสนอตัว 2 คน แล้ว 2 คนนั้นก็ต้องไปเกณฑ์สามาชิกโหวตให้ตนเอง ถ้าคนชนะได้ 600 เสีย แล้วอีกคนได้ 400 เสียง คนที่แพ้ ก็อาจจะแปรไปพรรคอื่นก็ได้ จะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคในที่สุด
นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ระบบดังกล่าวให้ความสำคัญกับสาขาพรรค ตนคิดว่าก็ดี แต่ความเป็นจริงคนออกกฎหมายไม่เคยบริหารพรรคการเมือง อยากถามว่า สาขาพรรคตั้งอยู่ที่ใด ตนให้ 100% เลย ตั้งอยู่ที่บ้านผู้แทนราษฎรทั้งนั้น ซึ่งพอมีการเสนอตัวลงรับสมัครเลือกตัวผู้แทน ถ้าคนเดิมไม่ประสงค์จะลงแล้ว ถ้าเขาเสนอลูกเมีย สามี พี่น้อง ของเขา ถามว่าสาขาพรรคจะสนับสนุนไหม ซึ่งต้องสนับสนุนอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นระบบนี้จะทำให้เกิดทายาททางการเมือง หรือระบบผัวเมียกับเข้าสู่การเมืองอีก และกลับเข้ามาเข้มแข็งอีก
“ผมเข้าใจว่าคนร่างกฎหมายเขาเอามาจากต่างประเทศ โดยที่ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของการบริหารพรรคการเมืองเลย อีกทั้งวัฒนธรรมไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถามว่าระบบนี้ดีไหม มันก็ดี เพราะจะได้คนที่ตรงใจประชาชน แต่การเมืองของเรามันไม่ถึงขั้นนั้น เพราะบางครั้งเวลาคัดเลือกผู้สมัคร จะทำให้เกิดความแตกแยกกันเลย ในฐานะนักการเมือง เราเป็นผู้เล่น ขอไม่แสดงความคิดเห็นคัดค้าน ในเมื่อท่านเป็นผู้ร่างกติกามาแล้ว เราจะไม่ยื่นข้อเสนอคัดค้าน ทวงติงถ้าทำแบบก็จะมีปัญหา และมีส่วนได้เสีย ฉะนั้นผมในฐานะผู้เช่นที่อยู่ในสนามมา 30 ปี ถ้ายังยืนยันแบบนั้น เราก็จะปฎิบัติตาม แต่ขอบอกว่ามีปัญหาแน่” นายนิพิฏฐ์ กล่าว