xs
xsm
sm
md
lg

“นิพิฏฐ์” ชี้ กม.พรรคการเมือง คืนชีพระบบครอบครัว ติงไพรมารีโหวตทำแตกแยกลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.มอง พ.ร.บ.พรรคการเมือง เปิดช่องคืนชีพการเมืองระบบครอบครัวเฟื่องฟู ระบบไพรมารีโหวต ทำสังคมไทยแตกแยกร้าวลึก ชี้ลอกต่างชาติมาควรออกแบบให้รอบคอบกว่านี้ ยันพรรคไร้ปัญหา แต่ห่วงพรรคใหม่ๆ

วันนี้ (16 มิ.ย.) นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านกฎหมายพรรคการเมืองว่า ในฐานะผู้เล่นหรือผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การพูดอะไรไปก็จะถูกสังคมถามกลับว่าพูดเพื่อเพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ตนขอเตือนเรื่องเดียว หลังจากกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ออกมามีผลบังคับใช้โดยกำหนดให้มีหารใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.จากสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้ง และในระบบบัญชีรายชื่อว่าจะยิ่งทำให้การเมืองระบบครอบครัว ระบบวงศ์ตระกูล หรือการเมืองระบบสืบทอดทายาททางการเมืองจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งและจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต แม้รัฐธรรมนูญปี 50 และสังคมไทยเคยตระหนักในปัญหานี้และคัดค้านมาแล้วว่าไม่ต้องการการเมืองระบบนี้ แต่ก็หนีไม่พ้นเพราะกฎหมายออกแบบมาเช่นนี้ที่จะยิ่งทำลายพรรค หรือสร้างความแตกแยกให้พรรคการเมืองชนิดร้าวลงลึกถึงระดับสาขา ชุมชน

“ตัวอย่างคือกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเขต หรือจังหวัดที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ที่กำหนดให้เลือกมา 2 ชื่อ เพื่อเสนอต่อกรรมการสรรหาผู้สมัครในนามพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ตามลำดับ ที่สุดคนหน้าใหม่ประเภทนักการเมืองน้ำดี คนใหม่ๆ ที่มีความรู้มีคุณภาพรุ่นใหม่ๆ จะไม่ได้ถูกเลือกเสนอมาจากสมาชิกพรรคในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เพราะสาขาพรรค หรือสาขาจังหวัดล้วนตั้งอยู่ในบ้านของ ส.ส.เหนือผู้มีอิทธิพลในจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้นๆ พอกำหนดให้ใช้ไพรมารีโหวตจากระดับสาขาในเขตเลือกตั้ง คนที่เลือกก็คนของเขาทั้งนั้น ก็ต้องเอาเครือข่าย หรือคนในวงศ์ว่านเครือเขา”

นอกจากนี้ ความแตกแยกในพรรคการเมืองเดียวกันจะขัดแย้งชัดเจนและลงลึกยิ่งขึ้นในระดับชุมชน ท้องถิ่นในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เพราะต้องคัดเลือก 2 รายชื่อมาเพื่อให้คณะกรรมการสรรหา และกรรมการบริหารเลือกเอาเพียง1คนเพื่อลงสมัครในนามพรรค การแข่งขันในเขตเลือกตั้งในพรรคเดียวกันก็ยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น ยกเว้นกรณีล็อบบี้เลือกมา 2 คนจากกลุ่มเดียวกัน แต่หากมาจากคนละกลุ่มเมื่อได้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงในนามพรรค ฝ่ายที่พรรคไม่เลือกอาจจะหันไปจับมือเพื่อสนับสนุนกับพรรคการเมืองอื่นแทนก็ได้ คล้ายกับการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน หรือ อบต. ซึ่งที่ผ่านมาผู้บริหารพรรคการเมืองเคยมีประสบการณ์มองเห็นปัญหานี้ว่าจะยิ่งสร้างความแตกแยก ขัดแย้งในพรรคการเมืองเดียวกัน เขาจึงไม่ใช้ระบบนี้ โดยแก้ไขให้สมาชิกพรรคทุกคนเป็นคนของพรรค ไม่ใช่คนของกลุ่ม หรือของแต่ละตระกูล

“ระบบไพรมารีโหวตที่ สนช.ไปลอกเลียนแบบต่างประเทศมาใช้กับสังคมไทย ทั้งที่มีบริบทต่างกัน จึงควรออกแบบที่ดีเพื่อป้องกันปัญหาที่ว่าให้รอบคอบกว่านี้จะดีกว่า และสามารถทำได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการเมืองระดับชาติที่จ้องล้างแค้น แข่งขัน สร้างความแตกแยกลงลึกในสังคมไทยมากกว่าที่ผ่านมา ทั้งนี้ที่ผมพูด เพราะเป็นห่วงพรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น แต่พรรคประชาธิปัตย์เรามีประสบการณ์ยาวนาน เราหาทางแก้ไขได้ ห่วงว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เพิ่งจะตั้งจะอยู่ได้ยากมาก” นายนิพิฏฐ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น