ประธาน กรธ.ห่วงเนื้อหาร่างกฏหมายลูกพรรคการเมือง จ่อเชิญ กกต.มาคุยปัญหาในทางปฏิบัติ ชี้หากไม่สมบูรณ์ก็ต้องตั้ง กมธ.ร่วม รับไพรมารีโหวตส่อวุ่น ห่วงสับสน ทำพรรคใหม่เกิดยาก บอกให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมดี แต่ไม่ง่าย ถ้ายุบสภาทำไง แย้มจ่อใช้ประเด็นเลือกตั้งไม่ราบรื่นลุยแก้ แต่ขอหาทางออกก่อน โยนนายกฯ พิจารณากิจกรรมทางการเมือง
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ) แสดงความเป็นห่วงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ที่ กมธ.ได้แก้ไขเปลี่ยนไปจากร่างเดิมว่าจะมีการประชุมในวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย. โดยจะเชิญ กกต. และเจ้าหน้าที่มารับฟังว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา กกต.ยืนยันว่าไม่มีปัญหาก็ต้องมาอธิบายให้ กรธ.ฟัง โดยในขณะนี้คงไม่มีความแย้งหรือคัดค้าน แต่จะดูว่าครบถ้วนสมบูรณ์หรือยัง หากไม่สมบูรณ์ก็อาจต้องโต้แย้งและตั้งกรรมาธิการร่วม
นายมีชัยกล่าวว่า เรื่องของไพรมารีโหวตจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น มีการส่งสมัครแล้วมีคนโต้แย้งว่ากระบวนการที่พรรคส่งมายังไม่ครบถ้วนจะเกิดผลอย่างไร กกต.จะต้องทำอย่างไรต้องตรวจทุกคนหรือไม่ว่า ทุกคนที่ส่งชื่อมากระบวนการได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง กกต.จะทำอย่างไรจะไม่รับสมัครหรืออย่างไร หรือถ้าเลือกแล้วมีคนโต้แย้งผลจะเป็นอย่างไร กำลังดูอยู่ว่ามีอะไรรองรับหรือยัง เพราะจะเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะพรรคการเมือง เพราะมีการบังคับเป็นเขตจากเดิมเป็นจังหวัด อีกทั้งไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็นผู้แทนพรรคการเมืองประจำเขต แต่ยังเรียกเป็นผู้แทนเขตพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสน และจะยิ่งทำให้พรรคการเมืองใหม่เกิดยากขึ้น เพราะไปบังคับว่าต้องมีสมาชิกอยู่ทุกเขต แม้ในทางทฤษฏีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่พรรคการเมืองขนาดกลางก็ยังมีไม่ครบ
“ที่สำคัญคือพรรคการเมืองจะต้องใช้เวลากี่วัน สมมติเป็นกรณียุบสภาให้เลือกภายใน 45 วัน ถ้าพรรคการเมืองต้องใช้กระบวนการนี้ เช่น ใช้ 30 วันจะทำอย่างไร เพราะจะกระชั้นชิดกับการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งซ่อมก็ยังพอมีเวลา เพราะมีเวลาถึง 90 วัน จึงต้องสอบถามก่อนว่าที่เขียนไว้ทั้งหมดคิดว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ หากมีปัญหาก็จะทำให้การเลือกตั้งไม่ราบรื่น โดยเป็นประเด็นที่สามารถโต้แย้งให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วมได้ แต่จะพยายามหาทางออกก่อนที่จะไปสู่จุดนั้น” นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยยังกล่าวถึงการปลดล็อกให้พรรคการเมืองจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ว่า เป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีจะพิจารณา หลังจากที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว กลไกต่างๆ คงจะค่อยๆ ขยับเพื่อให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหนต้องถามนายกรัฐมนตรี