xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ยก 5 เหตุการณ์ ชู กกต.ชุดนี้สั่งไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
กรรมการการเลือกตั้ง ร่าย 5 เหตุการณ์ชูบังเอิญ กกต.ชุดนี้สั่งไม่ได้ ตั้งแต่ไม่ให้ “กิตติรัตน์” กู้ ธ.ก.ส.จ่ายจำนำข้าว เบรก “ยิ่งลักษณ์” จัดเลือกตั้ง แยกจัดโหวต ส.ส.ไม่ชน ส.ว. ติงคำถามประชามติ แสดงจุดยืนชัดปมกฎหมายลูก

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เขียนข้อความลงเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก Srisutthiyakorn Somchai หัวข้อ “บังเอิญ กกต.ชุดนี้ สั่งไม่ได้” โดยอ้างถึง 5 สถานการณ์ที่สะท้อนถึงการทำงานของ กกต.ที่อาจจะไปขัดแย้งต่อผู้มีอำนาจหรือไม่ ดังนี้ 1. วันที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาชี้แจงต่อ กกต.ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 20,000 ล้านบาท เพื่อไปชำระหนี้ชาวนา โดยบอกว่าจะใช้คืนเมื่อขายข้าวให้จีนได้ แต่ กกต.ไม่ให้เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญเรื่องรัฐบาลรักษาการไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ วันนั้นรัฐบาลไม่พอใจ กกต. สื่อเลือกข้างจำนวนหนึ่งโจมตี กกต.ว่าคือเหตุที่ชาวนาขายข้าวไม่ได้เงิน

2. วันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประชุมร่วมกับ กกต. ต้องการให้ กกต.เดินหน้าเลือกตั้ง ในขณะที่ กกต.เห็นว่าเดินหน้าต่อไปก็นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนในชาติ และมีแนวโน้มถูกร้องว่าเป็นโมฆะด้วยเหตุที่ยังไม่สามารถรับสมัครได้ครบทุกเขต ขอให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีก 3 เดือนเพื่อรับสมัครให้ครบและให้สถานการณ์ความขัดแย้งเย็นลง วันนั้นรัฐบาลไม่พอใจ สื่อเลือกข้างจำนวนหนึ่งโจมตี กกต.ว่าตั้งใจล้มเลือกตั้ง และเป็นแนวร่วมกับผู้ชุมนุม กปปส.

3. วันที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคใต้ 14 จังหวัด ที่หาดใหญ่ ตัวแทนรัฐบาล นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอให้ กกต.จัดการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว. กกต.ได้ถามความเห็นผู้ว่า 14 จังหวัด ปรากฏว่า 13 จังหวัดให้ความเห็นว่าไม่สมควร (จังหวัดชุมพร เดินออกจากที่ประชุม) กกต.จึงกำหนดให้เดินหน้าเลือกตั้ง ส.ว. แยกจากการเลือกตั้ง ส.ส. ผลคือ การเลือกตั้ง ส.ว.ในทุกจังหวัดภาคใต้สำเร็จลงด้วยความเรียบร้อย

4. ช่วงการออกเสียงประชามติ กกต.ได้แสดงความเห็นหลายเรื่องที่ขัดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้นำรัฐบาล เช่น ให้ความเห็นว่าการตั้งคำถามพ่วง มีลักษณะชี้นำ ยาว วกวน และใช้ภาษาที่ยากต่อความเข้าใจ ยืนยันว่าการแสดงออกถึงความคิดคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่รุนแรง ไม่บิดเบือน ไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่ปลุกระดม เป็นสิ่งที่ทำได้ และพยายามติดต่อให้ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาร่วมดีเบตกับฝ่ายที่เห็นต่าง แต่ได้รับการปฏิเสธ

5. ช่วงการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. โดย กกต.ให้ความเห็นต่อกฎหมายลูกอย่างตรงไปตรงมา แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง เช่น เรื่องคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่ง เรื่องผู้ตรวจการการเลือกตั้ง เรื่องการจับสลาก ส.ว.ในการสรรหาระดับจังหวัด และบอกว่า กรธ.ขาดความจริงใจในการรับฟังความคิดเห็น จัดให้เป็นแค่พิธีกรรม และเอาร่างที่มิใช่ฉบับจริงมารับฟังความคิดเห็น

“บังเอิญว่าโครงสร้างใหม่ไม่เหมือนเดิม และบังเอิญว่าอีกปีสองปี กกต.บางคนจะครบ 70 ปี และบังเอิญว่า กมธ.เห็นว่าควรให้เซตซีโร่ในวันสุดท้ายของการพิจารณากฎหมาย ทุกเรื่องล้วนบังเอิญ” นายสมชัยระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น