xs
xsm
sm
md
lg

เซ็ตซีโร่ กกต.จะออกมาอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

การ “เซ็ตซีโร่” กกต.ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะเข้าตำราว่า “เสร็จนาฆ่าโคถึก” หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ กกต.ก็ถูกใช้งานให้จัดการออกเสียงประชามติมาหมาดๆอาจกล่าวได้ว่าเป็นองค์กรอิสระองค์กรเดียวที่ทำงานให้แก่ระบอบ คสช.

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระที่เหมือน “สายล่อฟ้า” อยู่นาน ตั้งแต่ปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มาจนถึงยุค คสช.

เพราะเป็นองค์กรที่มีบทบาทเป็น “ตัวละคร” ทางการเมืองอย่างชัดเจนที่สุด และเป็นเหมือนองค์กรอิสระเดียวที่ยังมีบทบาทอยู่ในหน้าสื่อ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ยอดเสา” ของสายล่อฟ้าที่ว่า คงหนีไม่พ้น “คนดัง” อย่างนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้งที่เป็นเหมือน “หน้าตา” ของ กกต.ไปแล้ว

ด้วยความที่เป็นคนชอบออกสื่อ มีพื้นที่ในโลกโซเชียล บวกกับการทำตัวของเขาให้เป็นเป้าสายตาของประชาชนอยู่เสมอ

เช่นการเขียน “นิราศ” หอเอนปิซา เปรียบเทียบความ “เอียง” กับจุดยืนการปฏิบัติหน้าที่ ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในช่วงนั้น

หรือตอนที่ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คุณสมชัยก็อยู่ดีไม่ว่าดี เอาหีบบัตรลงคะแนนประชามติมาโยนลงบนพื้นเพื่อจะอวดความทนทาน ปรากฏว่าหีบดันแตกพินาศต่อหน้าผู้สื่อข่าว ให้เสียรังวัดกันไป

นอกจากนั้นก็ยังมีบทบาทการจ้อออกสื่ออีกมากมายจนถ้าถามคอการเมืองหรือชาวบ้านทั่วไป อาจจะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าประธาน กกต.ชื่ออะไร จำได้แต่ กกต.สมชัย คนดังคนนี้

และเมื่อในที่สุด กรธ.และ สนช.มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต.ให้มีบท “เซ็ตซีโร่” กกต.ซึ่งเป็นองค์กรอิสระองค์กรแรกที่ถูกตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ นายสมชัยนี่แหละ ก็เป็นคนที่ “ส่งเสียง” ดังที่สุด

ถึงขนาดเอาเรื่องการ “เซ็ตซีโร่” นี้ไปผูกโยงเข้ากับการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยให้งงกันทั้งเมือง ว่ามันเกี่ยวอย่างไรกัน

ทั้งนี้ชนวนการ “เซ็ตซีโร่” กกต.และองค์กรอิสระนั้นมาจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 273 ที่บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมี พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องจะออกมา “ชี้” ว่าจะให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหรือไม่อย่างไร ซึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ก็เป็นฉบับแรกที่ประเดิม “เซ็ตซีโร่” กกต.ทั้งยวง โดยกฎหมายดังกล่าวมาจากการร่างของ กรธ.และผ่านความเห็นชอบของ สนช.แล้ว ส่งผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอื่นๆ หนาวๆ ร้อนๆ ไปตามๆ กัน ว่าจะประสบชะตากรรมเดียวกับ กกต.หรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้ร่าง พ.ร.ป. กกต.ที่ผ่านทั้ง กรธ.และ สนช.มาหมาดๆ ก็ยังจะต้องไป “สะเด็ดน้ำ” ต่ออีกรอบ ด้วยการส่งให้ทาง กกต.นั่นเองไปให้ความเห็นว่าจะทักท้วงตามมาตรา 267 วรรคห้า

คณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 11 คน ประกอบด้วยประธาน กกต.และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมอบหมายฝ่ายละ 5 คน เพื่อพิจารณาแล้วเสนอให้ สนช.ไปพิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน ซึ่งถ้าในรอบนี้ สนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 พ.ร.ป.ก็จะตกไป แต่ถ้าคะแนนเสียงไม่เห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ถือว่าให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญเสนอ

อธิบายง่ายๆ คือ ถ้า กกต.ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ป.นี้ ก็จะให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 11 คน โดยมีประธาน กกต. 1 คน ตัวแทนจาก กรธ. 5 คน และตัวแทนจาก สนช. 5 คน ซึ่งดูตัวเลขแล้วก็ไม่ต้องสงสัยว่า ฝ่าย กกต.จะเอาอะไรไปสู้

จากนั้นถ้าพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ได้ความว่าอย่างไร ก็จะนำเข้า สนช.อีกครั้ง ซึ่งรอบนี้มติที่จะให้ร่าง พ.ร.ป.นี้ตกไป ต้องใช้มติถึง 2 ใน 3 ของ กรธ.ไม่งั้นถือว่าเห็นด้วยตามที่เสนอมา

หลังจากนี้ก็มีความเห็นว่า “ช่องทางหายใจ” ของ กกต.ก็เหลือแค่ว่า อาจจะต้องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง หรือไม่ก็ขอให้ สนช.จำนวนหนึ่งในสิบของสภาฯ ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบว่า ร่าง พ.ร.ป.ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ช่องทางมีตามกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ หรือรับแล้วว่าอย่างไร นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ดูจากกลไกตามกฎหมายแล้ว การ “รอดชีวิต” ของ กกต.นั้น ต้องขึ้นกับปาฏิหาริย์ล้วนๆ

แต่ก็ยังมีผู้วิเคราะห์ว่า “มันก็ยังไม่แน่” อยู่เหมือนกัน เพราะถ้า กกต.สามารถ “เข็น” เรื่องนี้ให้เข้าไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้

ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่อาจจะถูก “เซ็ตซีโร่” ได้เหมือนกัน

และการ “เซ็ตซีโร่” ของ กกต.ก็น่าจะสร้างความสะเทือนขวัญให้องค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งรวมศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย

ความ “สะเทือนขวัญ” อันนี้ ก็อาจจะส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจการตีความรัฐธรรมนูญชี้ว่า การ “เซ็ตซีโร่” กกต.นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมเป็นบรรทัดฐานก็ได้ ซึ่งถ้าออกมาแบบนี้ ก็ไม่ถือว่า “น่าเกลียด” เพราะมันมีหลักการทางกฎหมายอยู่แล้วว่า การใช้กฎหมายที่มีผลเป็นโทษย้อนหลังต่อสิทธิหรือสถานะของบุคคลนั้นเป็นการไม่ชอบ

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความเห็นของผู้วิเคราะห์สถานการณ์มองไปอีกแนวหนึ่งได้เหมือนกันว่า ถ้าเรื่องของการ “เซ็ตซีโร่” นี้ มี “ธง” มาว่าจะจัดการกับ กกต.เพียงองค์กรเดียว ที่เป็นเหมือนองค์กร “สายล่อฟ้า” และเป็น “ตัวละคร” สำคัญที่มีหน้าที่จะต้องจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปที่กำหนดไว้

ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรดแมปนั้น “เขา” ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแตะต้อง

ดังนั้น ถ้ามีสัญญาณชัดๆ ส่งไปส่งมากันภายใน ว่าคนอื่นจะไม่โดน “ล้างไพ่” ไปด้วยหรอก สบายใจได้

อย่างนี้ก็รับรองได้ว่า กกต.คง “ตายเดี่ยว” อยู่องค์กรอิสระเดียว

และต้องไม่ลืมว่า การจะจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ จำเป็นจะต้องมี กกต.มาเป็นผู้จัดการเลือกตั้งเสียก่อนเป็นเงื่อนไขแรก ซึ่งเมื่อ “เซ็ตซีโร่” กกต.ชุดนี้ไปแล้ว เมื่อไรจะมี “ชุดหน้า” เข้ามารับตำแหน่ง พร้อมปฏิบัติหน้าที่ และจัดการเลือกตั้งไปตามโรดแมป ก็ไม่มีใครตอบได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น