xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” แจง สนช.มีอำนาจชงศาลตีความ กม.กกต. เชื่อสังคมเข้าใจปมเซตซีโร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธาน กรธ.มองอำนาจอยู่ที่ สนช.มีสิทธิส่งศาล รธน.ตีความ กม.กกต. เชื่อสังคมเข้าใจปมเซตซีโร่ ย้อนการเมืองมติออกแบบไหนก็ติงอยู่ดี โต้ “เสรี” ยันร่างแบบไหน สนช.ก็มีสิทธิแก้ แจงปมร้อนวัด จัดการกับคนทุจริต ไม่ได้จัดการศาสนา

วันนี้ (12 มิ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ระบุว่ามติของที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ที่เห็นชอบให้ กกต.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อกฎหมายลูกบังคับใช้ไม่ต่างจากการลงมติ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในอดีต โดยย้ำว่าสังคมส่วนใหญ่เข้าใจเพราะว่ามีเหตุเฉพาะของ กกต. เนื่องจากโครงสร้างที่มาเปลี่ยนไป หากให้พ้นจากตำแหน่งทั้งหมดก็จะเป็นประโยชน์ ส่วนที่ฝ่ายการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางให้เซตซีโร่ กกต.ทั้งคณะ และหากยืนยันหลักการก็ควรให้มีมาตรฐานเท่าเทียบกันทุกองค์กรอิสระนั้น ตนอยากลองให้คิดกลับกันดูว่าหากมีมติมาอีกอย่าง ฝ่ายการเมืองก็คงว่าอยู่ดี ส่วนปัญหาเรื่องปลาสองน้ำของ กกต.นั้น หากปฏิบัติหน้าที่แล้วมี กกต.พ้นวาระระหว่างจัดการเลือกตั้งก็อาจจะเป็นปัญหาได้ การให้พ้นจากตำแหน่งจึงเป็นทางออก ส่วนที่จะปฏิรูปองค์กรอิสระอื่นๆ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาทีละองค์กร เพราะมีเหตุที่แตกต่างกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.จะมีการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ นายมีชัยกล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะ กรธ.ไม่มีสิทธิเรื่องนี้เนื่องจากเป็นอำนาจของ สนช.ในการส่งตีความก่อนส่งทูลเกล้าทูลกระหม่อมฯ ให้กฎหมายใช้บังคับ ทาง กกต.และ กรธ.มีสิทธิในกระบวนการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมเท่านั้น กรณีนี้หาก กกต.เห็นแย้งฝ่ายเดียวก็สามารถเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอ สนช.ส่งร่างกฎหมายมาให้พิจารณา

นายมีชัยยังกล่าวกรณีที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท.ในฐานะกรรมาธิการเสียงวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.กกต.เสียงข้างน้อย พาดพิงว่า กรธ.ไม่ยืนยันในหลักการเรื่องพิจารณาตามคุณสมบัติตามที่เสนอมาแต่แรก จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะไม่ว่าร่างกฎหมายจะบัญญัติไว้อย่างไร สนช.มีสิทธิแก้ไขหากไม่เห็นด้วย และเมื่อแก้แล้วหากพอไปได้ก็ต้องยอมรับ หากไปต่อไม่ได้ก็ต้องโต้แย้ง

ส่วนกรณีปัญหาการทุจริตเงินอุดหนุนวัดกับการคุ้มครองพุทธศาสนาตามรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองศาสนาในเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในการนับถือศาสนา แต่ไม่ได้คุ้มครองการทุจริตซึ่งขัดต่อหลักศาสนา ดังนั้นการจัดการที่เกิดขึ้นคือการจัดการกับคนทุจริต ไม่ได้จัดการกับศาสนา หากทำผิดก็ถูกลงโทษได้
กำลังโหลดความคิดเห็น