ประธาน มปท.ไม่เห็นด้วยคนบริจาคเงินหนุนพรรคปีละ 10 ล้าน ชี้มากไป แนะแค่ 1 ล้านน่าจะพอ เตือนไม่อยากให้เอาเงินมาสร้างอิทธิพลในพรรคการเมือง ยัน กม.ยุบพรรคยังมีความจำเป็นหากพรรคการเมืองทำผิดขั้นรุนแรง
วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 18.00 น. ที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธาน มปท. ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวตอนหนึ่งว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ทางมวลมหาประชาชน มีความเห็นที่เคยแสดงเอาไว้ ในเรื่องการควบคุมกำกับพรรคการเมือง ประวัติในอดีตของพรรคการเมือง เรามักจะเห็นว่า พรรคการเมืองถูกครอบงำโดยคนภายนอกเพื่อผลประโยชน์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ยกร่างกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ โดยคำนึงถึงปัญหานี้ แล้วมีบทบัญญัติชัดเจนไว้ในมาตรา 28 ว่าห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมให้คนที่ไม่ใช่สมาชิก (คนนอก) เข้ามาครอบงำ ชี้นำ พรรคการเมืองโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม และมีบทบัญญัติมาตรา 29 ห้ามไม่ให้ใครก็ตาม ที่ไม่ใช่สมาชิกของพรรคการเมืองนั้น ที่เป็นคนนอกเข้าไปครอบงำ เข้าไปควบคุมชี้นำพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ใครฝ่าฝืนกฎหมาย 2 มาตรานี้ มีโทษจำคุก 5-10 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ฟังคำสั่งจากคนนอก ปฏิบัติตามคำสั่งคนนอก หรือคนนอกคนนั้นที่บังอาจเข้าไปชี้นำ ครอบงำพรรคการเมือง มีความผิดมีโทษจำคุก 5-10 ปี ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ตรงนี้ถูกใจมวลมหาประชาชน
นายสุเทพกล่าวต่อว่า ที่สำคัญคือมีบทบัญญัติในกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ฉบับนี้ เช่น ไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการที่ไม่สมควร เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และประชาชน เช่น ที่เขียนในมาตรา 44 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง กรรมการพรรค หรือสมาชิกพรรคการเมือง ไปรับเงินใคร แล้วมากระทำการที่เป็นการทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือทำลายระบบราชการ นี่ไม่เคยมีในกฎหมายพรรคการเมืองมาก่อน แล้วถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค หัวหน้าพรรค
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ก็มีบทบัญญัติใหม่ที่ดีมากอันหนึ่ง คือ บทบัญญัติมาตรา 45 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมือง ไปกระทำการใดๆ ที่ส่งเสริมการกระทำอันเป็นการก่อกวน หรือคุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือไปทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง คิดว่า เป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าบรรดาพรรคการเมือง นักการเมือง ไม่เข้าไปยุงยงส่งเสริมเรื่องวุ่นวายนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการที่กรธ. มีบทบัญญัตินี้ไว้ จึงถือว่าเป็นการสร้างคุณประโยชน์ทางการเมืองให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล สมกับที่เราตั้งความหวังว่ายุคนี้ต้องเป็นยุคของการปฏิรูปการเมือง
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ในเรื่องการคัดเลือกตัวผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกแบบแบ่งเขต หรือ แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเรื่องสำคัญมาก วันนี้ในร่าง กม. พรรคการเมือง ที่ กรธ.ร่างไว้ในมาตรา 47-48 และ มาตรา 49 ไม่ค่อยตรงใจประชาชนเท่าไรในร่างนี้ ให้มีกรรมการสรรหาที่พรรคการเมืองต่างๆ จะต้องเลือก จะต้องตั้งกันขึ้นมา โดยกำหนดในกฎหมายว่าในกรรมการสรรหาจะต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่คิดว่า การที่ไม่เกินกึ่งหนึ่งก็ยังทำให้กรรมการบริหารพรรคยังมีเสียงข้างมาก เช่น สมมติมีกรรมการสรรหา 10 คน เป็นกรรมการบริหารพรรค 5 คน อย่างนี้เสียงที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน คือ เสียงกรรมการบริหารพรรค คิดว่าทางเลือกที่ดี ที่น่าจะพิจารณา ถ้า สนช.จะพิจารณาในหมวดที่ว่าด้วยการสมัครรับเลือกตั้ง มันถึงเวลาแล้วที่จะให้ประชาชนเจ้าของพรรค เป็นผู้เลือกคนที่เหมาะเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตไหนจังหวัดไหน ให้สมาชิกของพรรคประชุมกัน ลงคะแนนเลือกคนที่จะลงเลือกตั้งเหมือนที่ต่างประเทศ เขามีที่เรียกว่าไพรมารีโหวต อย่างนี้บริสุทธิ์ คนขับรถ หัวหน้าพรรคไม่ได้ลง คนที่ประจบสอพลอหัวหน้าพรรคไม่ได้ตั๋วพิเศษนี้แน่ คนที่จะเป็นผู้สมัครได้จะต้องเป็นคนที่ประชาชนในเขตยอมรับและสนับสนุนในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาธิปไตยถึงจะสมบูรณ์แบบ เพราะมาจากประชาชนโดยประชาชนจริงๆ
นายสุเทพกล่าวอีกว่า เรื่องบุคคลที่จะบริจาคเงินอุดหนุนพรรคการเมืองในร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณา มาตรา 60 ที่บอกว่า บุคคลธรรมดาสามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ 10 ล้านบาทต่อปี นิติบุคคลบริจาค 5 ล้านบาทต่อปี อย่างนี้มากไป ไม่สอดคล้องกับการเป็นพรรคการเมืองของประชาชน คนที่จะบริจาคเงินรายใหญ่ ต้องมีจำนวนน้อยแล้วยอดเงินต้องไม่สูง ในความเห็นของตน บุคคลธรรมดาที่จะบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ปีหนึ่งไม่เกิน 1 ล้านบาท นิติบุคคลบริจาคให้พรรคการเมืองได้ 5 แสนบาท การบริจาคให้พรรคการเมือง ควรอนุญาตให้เขาสามารถไปหักลดหย่อนภาษีได้ คิดว่าอย่างนี้จะทำให้คนที่มีอิทธิพลทางการเงิน เข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองไม่ได้มากนัก เพราะพรรคการเมืองยังต้องพึ่งเงินส่วนใหญ่ที่มาจากกาบำรุงพรรคโดยเจ้าของพรรคตัวจริง คือ ประชาชน
นายสุเทพกล่าวต่ออีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ในมาตรา 46 ที่ห้ามว่าไม่ให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง ขายตำแหน่งทางการเมือง หรือในหน่วยงานของรัฐ ห้ามไว้ด้วยว่าไม่ให้ใครจ่ายเงินให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อซื้อตำแหน่งการบริหารงานทางการเมือง แล้วถ้าใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 10-20 ปี และเพิกถอนสิทธิ สมัครรับเลือกตั้ง เพราะตัวการสำคัญที่ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามหลักธรรมาภิบาล หรือนักการเมือง และพรรคการเมือง เพราะเป็นผู้มีอิทธิพลในอดีตที่ผ่านมา คนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบางคนต้องจ่ายเงิน 30-40 ล้านบาท ให้น้องสาวนักการเมือง และเมื่อได้เป็นผู้ว่าฯก็ตั้งหน้ารีดไถเอาให้ครบ 30-40 ล้านที่ซื้อตำแหน่ง และบวกกำไรเพิ่ม แล้วกลับบ้าน ทิ้งความชอกช้ำให้ประชาชน นี่เป็นตัวอย่างที่เจ็บปวด ต่อไปนี้เมื่อมีบทบัญญัติห้ามไว้แล้ว ใครทำมีโทษจำคุก 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อย่างนี้จะทำให้การวิ่งเต้นโยกย้ายเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งไม่เกิดขึ้นอย่างเลวร้ายเหมือนในอดีต
นายสุเทพกล่าวอีกว่า ตนสนับสนุนร่างกฎหมายพรรคการเมืองที่ กรธ. ร่างไว้โดยเฉพาะในมาตรา 130 ที่บอกไว้ว่าใครก็ตาม ที่ทำความผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง ทั้งหมดที่ห้ามไว้แล้วหลบหนี อนุญาตให้ศาลสามารถพิจารณาพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้ นี่เรียกว่าตีหัวแล้วหนีไม่สำเร็จแล้ว ใครทำร้ายประเทศชาติ ทำร้ายการเมือง ของประเทศต้องได้รับโทษ ไม่ว่าจะหนีไปอยู่ไหน และเตือนพรรคการเมือง และนักการเมืองทั้งหลาย ว่าบทบัญญัติในมาตรา 86 ห้ามไว้เลยว่าพรรคการเมืองจะไปกระทำการที่ไม่เหมาะสมไม่ได้ เช่น กระทำการล้มล้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข ยอมให้คนนอกเข้ามาครอบงำ ไปชี้นำพรรคของตน หรือไปรับเงินจากคนต่างชาติ หรือไปรับเงินทุจริตมาใช้ในพรรค ฯลฯ อย่างนี้ ยุบพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น เรื่องยุบพรรคการเมือง ยังเป็นเรื่องจำเป็นถ้าพรรคการเมืองยังมีพฤติกรรมอย่างนี้ และขอบคุณ กรธ.ที่เขียนกฎหมายพรรคการเมือง ไว้ในทิศทางที่เป็นการปฏิรูปการเมืองไว้อย่างนี้ตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน