xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ร่อน จม. กรธ.ย้ำลองไพรมารีโหวตได้ผลไม่น่าพอใจ พร้อมแนะ 5 ทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรค ปชป. เขียนจดหมายเปิดผนึกยาว 7 หน้า เสนอแนะ กรธ. พิจารณากม. พรรคการเมือง แจงปัญหา ไพรมารีโหวต ยันเคยลองใช้ในพรรคมาแล้วที่อยุธยา แต่ไม่ประสบผลที่น่าพอใจ พร้อมเสนอทางออก 5 ข้อ ให้ กรธ. พิจารณา ย้ำเห็นแย้งเพราะห่วงไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมกระทบการบังคับใช้ กม.

วันนี้ (25 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึก จำนวน 7 หน้า ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพี่อประกอบการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง ภายหลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการผ่านกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยให้แต่ละพรรคมีการดำเนินการจัดทำการคัดเลือกผู้สมัครเบื้องต้น (ไพรมารีโหวต) จนทำให้มีข้อถกเถียงมากมาย ว่า จดหมายดังกล่าวทำขึ้นสืบเนื่องจากมีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ท่ามกลางการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ประกอบกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุดของสวนดุสิตโพล บ่งบอกว่า คนจำนวนมากยังมีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน้อยถึงค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว ให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ตนจึงขอนำเสนอประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้อง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวในจดหมายว่า พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองในการบริหารพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ การมีบทบัญญัติให้มีการจัดทำการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น (Primary Vote) จึงถือเป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมายที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ดี หากศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้กลไกดังกล่าวมีอยู่ค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุผลที่สำคัญสองประการ คือ ความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไป หรือการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น และ กลไกการทำงานของระบบรัฐสภาต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นสถาบันในการรวบรวมผู้มีความคิดเห็น หรืออุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพของการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต่างจากระบบแยกอำนาจเด็ดขาด หรือระบบประธานาธิบดี ที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภาและรัฐสภาไม่สามารถแต่งตั้งหรือล้มรัฐบาลได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ในข้อเท็จจริงกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2550) ก็มีบทบัญญัติที่พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว แต่การดำเนินการตามแนวทางนี้มีภาระและต้นทุนสูงมากทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เห็นประโยชน์ในการที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้ แต่สนใจที่จะทุ่มเทในเรื่องของการชนะการเลือกตั้งและการควบคุมสมาชิกพรรคมากกว่า ซึ่งตนเห็นว่า มีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เช่น

1) การจะมีฐานสมาชิกที่กว้างขวางยังเป็นเรื่องยาก แม้จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆ แต่ประชาชนจำนวนมากมีความกังวลกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะมักจะถูกตราว่าสูญเสียความเป็นกลาง ซึ่งการจะขยายฐานสมาชิกพรรคการเมืองจึงต้องอาศัยทั้งเวลาและการรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมในสังคม

2) ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมาก แต่ปรากฏว่ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองรวมทั้งกฎหมายใหม่ กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงานและสาขา

3) หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่งก็จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอ หรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆ โดยเฉพาะ คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น และ

4) จากการที่พรรคได้ทดลองดำเนินการเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2556 ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ปรากฏว่า ผู้ที่มาใช้สิทธิและผู้ที่ได้รับชัยชนะมีคะแนนเสียงจำนวนค่อนข้างน้อย โดยกลับเป็นการสะท้อนความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะระดมคนใกล้ชิดของตัวเองให้มาลงคะแนนได้มากกว่า พรรคจึงยังไม่พอใจต่อผลการทดลองที่เกิดขึ้น

“ประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่าการจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองมีคุณค่าตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมด้วย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ในการที่จะดำเนินการในแนวทางนี้ แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองอื่นตลอดจนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรงกว่ามากนัก ดังนั้น สิ่งที่มองเห็นก็คือหากกฎหมายที่ร่างอยู่มีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติไปตามบทบัญญัติตามตัวอักษร แต่ความคาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนและสมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของพรรคการเมืองสามารถคัดบุคคลที่มีคุณภาพอย่างที่ผู้ร่างต้องการก็คงจะไม่เกิดขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขอย้ำว่า หากจะบังคับพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามกฎหมาย พรรคการเมืองต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่ที่ท้วงติงทั้งหมดเพราะสภาพปัจจุบันและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้การดำเนินการตามกฎหมายบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายได้อย่างแท้จริง ดังนั้น หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมฯ แล้วทางออกเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองที่เหมาะสมและสมควรได้รับการพิจารณามีหลายทาง ซึ่งทางพรรคได้มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. การให้ความสำคัญเบื้องต้นกับการที่พรรคการเมืองจะต้องมีฐานสมาชิกกว้างขวาง เพื่อสามารถ มีส่วนร่วมและใช้สิทธิ์ได้โดยอาจจะต้องทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการชำระเงินค่าบำรุงพรรค หรือมีบทเฉพาะกาล ทอดเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการชำระเงินค่าบำรุงหรือการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นหรือทั้งสองเรื่อง

2. การเน้นบทบัญญัติให้การสนับสนุนการมีสมาชิกพรรคการเมืองและการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองโดยรัฐต้องพร้อมที่จะจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในเรื่องของการบริหารงานของพรรคการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างมากเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และบังคับให้การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรคจะต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจากฐานราก เพื่อมิให้เกิดการครอบงำพรรคการเมืองจากคนจำนวนน้อย

3. หากยืนยันให้มีการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นก็ควรให้ กกต. และรัฐให้การสนับสนุนตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้งการดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศสามารถมาลงคะแนนได้อย่างสะดวก

4. ในกรณีที่มีผู้มาใช้สิทธิไม่มาก หรือในกรณีที่มีเหตุผลเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องของอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริตความรู้ความสามารถ ควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจนให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคกลั่นกรองตัดสินใจเลือกผู้สมัครตามความเหมาะสมได้

5. ยกเลิกการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในการจัดลำดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อแต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวต้องมีความหลากหลายในเรื่องภาพสัดส่วนหญิงชาย เป็นต้น

“ข้อคิดข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายพรรคการเมืองที่จะบังคับใช้ต่อไป ขอยืนยันอีกครั้งว่า พรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมากขึ้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ ความเห็นที่แย้งกับผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบัน อยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยว่าการไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมจะทำให้ผลของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายนั้นเอง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น