xs
xsm
sm
md
lg

สนช.รับหลักการเซตซีโร่ กสม. เพิ่มอำนาจฟันอาญาละเมิดสิทธิ ตั้ง กมธ.ร่วมถกร่าง กกต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช.มีมติเอกฉันท์รับหลักการเซตซีโร่ กสม. แต่เพิ่มอำนาจ กสม.เอาผิดทางอาญากรณีมีการละเมิดสิทธิได้ เร่งการสอบไม่ให้ล่าช้า พร้อมตั้ง กมธ.ร่วมถกร่างกฎหมาย กกต.

วันนี้ (30 มิ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 190 คะแนนรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 24 คนเพื่อพิจารณาในรายละเอียด มีกำหนดเวลาในการทำงานให้เสร็จภายใน 45 วันก่อนส่งกลับมายังที่ประชุม สนช.เห็นชอบอีกครั้ง สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว คือ การกำหนดให้มี กสม.จำนวน 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ทั้งนี้ กสม.จะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์ในด้านต่างๆ จํานวน 5 ด้าน อย่างน้อยด้านละ 1 คนแต่จะเกินด้านละ 2 คนไม่ได้ ได้แก่ 1. ด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี 2. ด้านการสอนหรือทํางานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษามาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี 3. ด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ 4. ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และ 5. ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตของไทยเป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

ในส่วนอำนาจหน้าที่ของ กสม.นั้น มาตรา 34 กำหนดให้เมื่อความปรากฏต่อกสม.ไม่ว่าโดยทางใด ไม่ว่าจะมีผู้แจ้งหรือผู้ร้องเรียนหรือไม่ก็ตามว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นให้คณะกรรมการตรวจสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและทําความจริงให้ปรากฏโดยไม่ล่าช้า และต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเรื่องนั้นหรือลักษณะเดียวกันนั้นขึ้นอีก

เช่นเดียวกับมาตรา 37 ที่กําหนดให้ในกรณีที่การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องใดเป็นความผิดอาญา และผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ ให้ กสม.หรือผู้ซึ่ง กสม.มอบหมาย มีอํานาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษได้ นอกจากนี้ ในมาตรา 38 ยังบัญญัติให้ กสม.ผู้ใดพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจําเป็นต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะเป็นภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่มีทางเยียวยาได้ในภายหลัง กสม.ผู้นั้นอาจแจ้งให้หน่วยงานของรัฐให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายตามหน้าที่และอํานาจของหน่วยงานนั้นได้แล้วแจ้งให้คณะ กสม.ทราบ

ขณะที่ บทเฉพาะกาลในมาตรา 60 กําหนดให้ประธาน กสม.และกรรมการ กสม.ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธาน กสม.และกรรมการ กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

ต่อมาที่ประชุม สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกัน 3 ฝ่าย ระหว่าง สนช. กรธ. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 11 คน เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ภายหลัง กกต.มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. 2. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ 3. นายตวง อันทะไชย 4. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. 5.นายสมชาย แสวงการ 6.พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ 7. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. 8. นายประพันธ์ นัยโกวิท 9. นายปกรณ์ นิลประพันธ์ 10. นายภัทระ คำพิทักษ์ และ 11. นายศุภชัย ยาวะประภาษ โดยมีกำหนดประชุนัดแรกในวันที่ 4 ก.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น