xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ตั้ง 5 สมาชิกนั่ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ถกร่าง กม.กกต.ประเดิมประชุม 3 ก.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกวิป สนช. เผย ประชุม สนช. ตั้ง 5 สมาชิกนั่ง กมธ. ร่วม 3 ฝ่าย ถกร่างกฎหมาย กกต. ชงเข้าที่ประชุมศุกร์นี้ ประชุมนัดแรก 3 ก.ค. แนะควรมีบทเฉพาะให้ไพรมารีโหวตใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

วันนี้ (27 มิ.ย.) นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ในวันศุกร์ที่ 30 มิ.ย. นี้ ที่ประชุม สนช. จะตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจาก กกต. ได้ส่งความคิดเห็นชี้ประเด็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจาก สนช. แล้ว ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 จำนวน 6 ประเด็น คือ กำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการสรรหา และ กกต. เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด การให้อำนาจ กกต. สั่งระงับ ยับยั้ง เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้งในแต่ละหน่วย รวมทั้งการออกเสียงประชามติที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ชัดเจน การให้ กกต. มอบอำนาจสอบสวนนั้นไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเซตซีโร กกต.

ทั้งนี้ วิป สนช. มีมติเสนอรายชื่อในสัดส่วนของ สนช. จำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 นายสมชาย แสวงการ นายตวง อันทะไชย พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ และตน ทำงานร่วมกับตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จำนวน 5 คน และ ประธาน กกต. โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 3 ก.ค. 60 เพื่อกำหนดกรอบการทำงานนับแต่แต่งตั้ง กมธ. ร่วม และจะนำเสนอที่ประชุมสนช.ให้ความเห็นชอบต่อไป หากที่ประชุมไม่เห็นชอบต้องใช้มติมากกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสนช. ซึ่งจะทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป

นอกจากนี้ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ กรธ. ส่งให้ สนช. พิจารณา จะตั้ง กมธ. จำนวน 21 คน โดยเป็น สนช. 17 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมการศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวล่วงหน้ามาแล้ว และจะมีตัวแทนจาก กรธ. จำนวน 2 คน ตัวแทนจากรัฐบาล คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงยุติธรรม และ กระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมพิจารณาด้วย ทั้งนี้ เนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ ในมาตรา 60 ให้เซตซีโร กสม. เช่นเดียวกับ กกต. แต่แตกต่างกันโดย กสม. เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยให้ กสม. เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระ ขณะที่ กกต. เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้น กสม. ชุดปัจจุบันสามารถกลับมาสมัครเป็น กสม. ใหม่ อีกครั้งได้ ไม่เหมือนกับ กกต. ที่ไม่สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้อีก

นพ.เจตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนความเคลื่อนไหวของร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าพรรคการเมืองนั้น ที่ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านระบบไพรมารีโหวตว่ามีปัญหาในการปฏิบัติที่ไม่อาจทันเวลา ซึ่งต้องรอดูว่า กกต. และ กรธ. จะส่งความเห็นแย้งมาหรือไม่ แต่ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ควรมีบทเฉพาะให้ไพรมารีโหวตใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป ยังไม่ใช้กับการเลือกตั้งครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น