xs
xsm
sm
md
lg

86 องค์กร 61 นักสิทธิมนุษยชน จี้แก้กฎหมายลูก กสม.7 ประเด็น แต่เห็นด้วยเซตซีโร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน เผย 86 องค์กรภาคประชาสังคม 61 นักสิทธิมนุษยชน ลงนามจี้ประธาน สนช.-ประธาน กรธ. ปมกฎหมายลูกกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 7 ประเด็น ยันเห็นด้วยเซตซีโร่ กสม. แนะแก้คุณสมบัติ ตัดหมอเป็นกรรมการสรรหา เพิ่มอำนาจชงศาลรัฐธรรมนูญ เปิดรายงานให้ชาวบ้านรู้ กำหนดชั้นความลับ สำนักงานควรเป็นหน่วยงานรัฐ

วันนี้ (21 มิ.ย.) นายจตุรงค์ บุญยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน เปิดเผยว่า องค์กรภาคประชาสังคม 86 องค์กร และนักสิทธิมนุษยชน 61 รายได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... ใน 7 ประเด็นด้วยหวังว่า เมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.จะมีการปรับปรุงเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นกว่าที่ กรธ.ยกร่างส่งไปเพื่อให้ สอดคล้องกับหลักกติกาสากลที่ไทยให้การรับรองไว้ ซึ่งก็จะมีผลต่อการปรับอันดับสถานะภาพด้านสิทธิมนุษยชนของไทยจากระดับบี เป็นเอ ในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตามหนึ่งในข้อเสนอที่องค์กรภาคประชาสังคมเห็นด้วยกับ กรธ. คือควรมีการเซตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่าร่าง พ.ร.ป.กสม.ได้กำหนดกติกา องค์ประกอบการสรรหาใหม่ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการปารีส ดังนั้นก็ควรที่จะเริ่มกระบวนการสรรหา กสม.ใหม่ ไม่ใช่ให้ กสม.ชุดปัจจุบันที่มาจากองค์ประกอบเดิมอยู่จนครบวาระ

“ข้อเสนอในประเด็นนี้เราไม่ได้เสนอเพราะมองว่าในองค์กร กสม.มีปัญหาการทำงาน ใครดีไม่ได้ เรามองข้ามไปเลยว่า ในเมื่อเราวางกติกา องค์ประกอบการสรรหาใหม่ ก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการสรรหาตามกติกาใหม่เลย ไม่ใช่ต้องรอให้ชุดปัจจุบันอยู่ครบวาระเหมือนอย่างที่กสม.ชุดปัจจุบันท่านเห็น”

ทั้งนี้ 7 ประเด็นตามจดหมายเปิดผนึกประกอบด้วย 1 ในกรณีคุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งขาติ (กสม.)ที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 วรรคหนึ่งว่าให้ กสม.7 คนมาจากผู้ประสบการณ์การทำงานใน 5 ด้านนั้น เห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวไม่สอดคล้องหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Paris Principles) และเป็นการขยายความรัฐธรรมนูญมาตรา 246 ที่กำหนดคุณสมบัติผู้เป็น กสม.ไว้เพียงว่า ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้ ประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์เท่านั้น หากจะมีการเพิ่มเติมควรเพิ่ม ให้การสรรหาคำนึงถึงการมีส่วร่วมของหญิงและชาย เช่นที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542

2. องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา ควรตัดผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มาจากการเลือกกันเองหนึ่งคนตามร่างมาตรา 11 (5) ออก เพราะองค์กรวิชาชีพดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมจรรยาวิชาชีพของแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้รับบริการสาธารณสุขเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ต่างจากสภาทนายความที่มีหน้าที่ช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ 3. หน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยที่ตามร่างมาตรา 37 กำหนดให้ กสม.สามารถร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ กล่าวโทษได้ด้วยตนเอง โดยให้ถือเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ควรเพิ่มให้มีอำนาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีเห็นตามมีผู้ร้องว่าบทบัญญัติกฎหมายใดกระทบสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเสนอเรื่องความพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองกรณีเห็นชอบตามผู้ร้องว่า กฎ คำสั่งหรือการกระทำใดทางปกครองกระทบสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

4. ควรกำหนดให้ดุลพินิจของ กสม.ในการที่จะนำรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ในประเทศที่เห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรมขึ้นมาตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ไม่ควรบัญญัติแบบตายตัวว่า “ต้องตรวจสอบและชี้แจงหรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง” ดังร่างมาตรา 44 เพราะเห็นว่า กสม.มีหน้าที่ปกป้องรัฐในเวทีระหว่างประเทศแทนที่จะตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร และในแต่ละปีอาจมีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิฯในประเทศไทยมากมายทั้งจากภาครัฐและประชาชน การกำหนดบทบัญญัติดังกล่าวอาจทำให้การทำงานของกสม.ถูกเข้าใจจากสังคมและนานาชาติว่ามีบทบาทเป็นปากเสียงของรัฐบาลไทยมากกว่าการตรวจสอบการละเมิด หรือการละเลยสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจขัดหลักความเป็นอิสระตามหลักการแห่งกรุงปารีส

5. ควรปรับปรุงเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตามร่างมาตรา 46 ซึ่งจะมีบทลงโทษให้ต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 59 จำคุกหกเดือน ปรับหนึ่งหมื่นหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยให้ กสม.เป็นผู้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ประชาชนและการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม. และให้ความรับผิดจำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่ของ กสม.ที่มีหน้าที่ในการควบคุมข้อมูลข่าวสารเท่านั้น 6. สำนักงาน กสม.ควรเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล งบประมาณ ไม่ใช่เป็นส่วนราชการเช่นที่กำหนดในร่างมาตรา 47 เพราะจะทำให้สำนักงานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สนองต่อกรอบอำนาจหน้าที่ของ กสม.ที่มีความเป็นอิสระได้ 7. บทเฉพาะกาล เห็นด้วยกับร่างมาตรา 60 ที่ให้ประธาน กสม. และ กสม. ชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนใช้บังคับแต่ยังคงให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนมี กสม.ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อให้การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกสม. เป็นไปตามหลักสากลโดยไม่ชักข้า ได้ กสม.ชุดใหม่ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่หลากหลาย และมีส่วนรวมของภาคประชาสังคม ที่เป็นไปตามหลักการแห่งกรุงปารีส สอดคล้องแนวทางสหประชาชาติ










กำลังโหลดความคิดเห็น