xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ลุยค้น “มาเฟีย” เป้าหมายพ่วงโรดแมปอำนาจหลังเลือกตั้ง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

เป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้น และน่าโมโหแบบต้อง “ขบกรามดังกรอดๆ” กันเลยทีเดียว สำหรับมาตรการในการตรวจค้นแบบป้องปรามของรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่มีการตรวจค้นบรรดาผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยหลายจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่า เป้าหมายในการตรวจค้น ก็ต้องเป็นพวกนักการเมืองทั้งที่เป็นระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ส.จ. ส.ท. ไปจนถึงระดับอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี เรียกว่าโดนค้นบ้าน โกดัง รวมไปถึงแหล่งต้องสงสัยกันแบบละเอียดยิบ

การตรวจค้นมีการใช้ชื่อตามแผนยุทธการหลายชื่อเรียก เช่น สยบไพรี ไพร่ฟ้าหน้าใส ตามแต่จะคิดค้นกันขึ้นมา เพื่อให้ดูน่าเกรงขาม ซึ่งผลการตรวจค้นบางรายก็พบสิ่งผิดกฎหมาย เช่น อาวุธปืน ยาเสพติด เป็นต้น

เป้าหมายในการตรวจค้น แม้ว่าหากสังเกตจะพบว่าไม่ได้เจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มอำนาจใด ซึ่งแน่นอนว่า หากพิจารณากันในทางการเมืองก็คงต้องการให้มองออกมาในลักษณะแบบนั้น ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ อย่างคราวที่แล้ว ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ การที่ทหารและตำรวจ บุกเข้าตรวจค้นบ้านของ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดตาก ขณะที่เจ้าตัวกำลังอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่อีกด้านหนึ่งมันมีความหมายในทางการเมืองมากไปกว่านั้น ซึ่งเดี๋ยวค่อยมาพิจารณากัน

ในช่วงเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจค้นบรรดาเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่า ที่เป็นคนของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้กำลังหลบหนีหมายจับในคดีความมั่นคง หรือหากพิจารณากันแบบต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ก็มีการตรวจค้นจับกุม ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา มีการตรวจยึดอาวุธปืน และกระสุนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งกรณีของ ชาดา ก็ถือว่าเป็น “ขาประจำ” ที่ถูกตรวจค้นบ้าน ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ เคยถูกเรียกสอบสวนหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมุมการเมืองมันก็ต้องบอกว่ามัน “ใช่เลย” เพียงแต่ว่าคนพวกนี้โดยความเป็นจริงแล้วมันก็ต้องถือว่าเป็น “ผู้กว้างขวาง” ในพื้นที่ เป็นระดับผู้มีอิทธิพลกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะอิทธิพลมากระดับไหน เพราะตามธรรมชาติคนที่เป็น ส.ส. เป็นผู้สมัครในระดับการเมืองท้องถิ่น และระดับ ส.ส. คนพวกนี้ถือว่าไม่ธรรมดาอยู่แล้ว พูดก็พูดเถอะ หากไม่ใช่อยู่ในยุคการใช้ “อำนาจพิเศษ” ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า พวกข้าราชการในพื้นที่หลายคนต่างก็เคยค้อมตัวเข้าหาบรรดานักการเมือง บางคนก็เคยวิ่งเต้น ขอเลื่อนขั้นเลื่อนยศตำแหน่งกันมาแล้ว

แต่เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับตัวใหม่ บรรดาพวกนักการเมืองก็เช่นเดียวกัน เมื่อมาถึงจุดนี้ก็ต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่เพื่อให้สอดรับกับอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์ตาม “โรดแมป” ของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องมีการเลือกตั้งใหญ่กันตามที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งก็ราวต้นปี 2562 ซึ่งภายใต้สมมติฐานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับเข้ามาตามเส้นทาง “นายกฯคนนอก” ตามที่ “บทเฉพาะกาล” ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดทางเอาไว้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมือง จาก ส.ส. อย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าในการตรวจค้นเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อป้องปราม และการปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายและอิทธิพลในพื้นที่ ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกัน มันก็อดคิดไม่ได้ว่า เป็นการ “พ่วง” เอาเรื่องทางการเมือง มันเหมือนกับการ “กำราบ” การจัดระเบียบเป็นการ “ปราม” กันอยู่ในทีว่า “อย่าแตกแถว” ออกไปให้ไกลเป็นอันขาด เพราะนี่คือโรดแมปใหม่หลังการเลือกตั้งว่าต้องสนับสนุนใครให้ “สืบทอดอำนาจ” กันต่อ อย่างน้อยก็เรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น