xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ลุยค้น"มาเฟีย" เป้าหมายพ่วงโรดแมปอำนาจหลังเลือกตั้ง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่าโมโหแบบต้อง"ขบกรามดังกรอดๆ" กันเลยทีเดียว สำหรับมาตรการในการตรวจค้นแบบป้องปรามของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ที่มีการตรวจค้นบรรดาผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยหลายจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายในการตรวจค้น ก็ต้องเป็นพวกนักการเมืองทั้งที่เป็นระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน สจ. สท.ไปจนถึงระดับอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี เรียกว่าโดนค้นบ้าน โกดังรวมไปถึงแหล่งต้องสงสัยกันแบบละเอียดยิบ

การตรวจค้นมีการใช้ชื่อตามแผนยุทธการหลายชื่อเรียก เช่น สยบไพรี ไพร่ฟ้าหน้าใส ตามแต่จะคิดค้นกันขึ้นมา เพื่อให้ดูน่าเกรงขาม ซึ่งผลการตรวจค้นบางรายก็พบสิ่งผิดกฎหมาย เช่น อาวุธปืน ยาเสพติด เป็นต้น

เป้าหมายในการตรวจค้น แม้ว่าหากสังเกตจะพบว่าไม่ได้เจาะจงไปที่พรรคใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มอำนาจใด ซึ่งแน่นอนว่า หากพิจารณากันในทางการเมืองก็คงต้องการให้มองออกมาในลักษณะแบบนั้น ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ อย่างคราวที่แล้ว ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือการที่ทหารและตำรวจ บุกเข้าตรวจค้นบ้านของ ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ อดีต รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่จังหวัดตาก ขณะที่เจ้าตัวกำลังอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ แต่อีกด้านหนึ่งมันมีความหมายในทางการเมืองมากไปกว่านั้น ซึ่งเดี๋ยวค่อยมาพิจารณากัน

ในช่วงเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็ได้ตรวจค้นบรรดาเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่า ที่เป็นคนของ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้กำลังหลบหนีหมายจับในคดีความมั่นคง หรือหากพิจารณากันแบบต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ก็มีการตรวจค้นจับกุม ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา มีการตรวจยึดอาวุธปืน และกระสุนได้จำนวนหนึ่ง ซึ่งกรณีของ ชาดา ก็ถือว่าเป็น "ขาประจำ" ที่ถูกตรวจค้นบ้าน ถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ เคยถูกเรียกสอบสวนหลายครั้ง

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมุมการเมืองมันก็ต้องบอกว่ามัน "ใช่เลย" เพียงแต่ว่าคนพวกนี้โดยความเป็นจริงแล้วมันก็ต้องถือว่าเป็น"ผู้กว้างขวาง" ในพื้นที่ เป็นระดับผู้มีอิทธิพลกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะอิทธิพลมากระดับไหน เพราะตามธรรมชาติคนที่เป็น ส.ส. เป็นผู้สมัครในระดับการเมืองท้องถิ่น และระดับ ส.ส. คนพวกนี้ถือว่าไม่ธรรมดาอยู่แล้ว พูดก็พูดเถอะ หากไม่ใช่อยู่ในยุคการใช้ "อำนาจพิเศษ" ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า พวกข้าราชการในพื้นที่หลายคนต่างก็เคยค้อมตัวเข้าหาบรรดานักการเมือง บางคนก็เคยวิ่งเต้น ขอเลื่อนขั้นเลื่อนยศตำแหน่งกันมาแล้ว

แต่เมื่อบรรยากาศเปลี่ยนไป ก็ต้องปรับตัวใหม่ บรรดาพวกนักการเมืองก็เช่นเดียวกัน เมื่อมาถึงจุดนี้ก็ต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่เพื่อให้สอดรับกับอนาคตข้างหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์ตาม"โรดแมป"ของรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องมีการเลือกตั้งใหญ่กันตามที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งก็ราวต้นปี 2562 ซึ่งภายใต้สมมุติฐานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกลับเข้ามาตามเส้นทาง "นายกฯคนนอก" ตามที่ "บทเฉพาะกาล"ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดทางเอาไว้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมือง จาก ส.ส.อย่างเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าในการตรวจค้นเป้าหมายทั่วประเทศ เพื่อป้องปราม และการปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายและอิทธิพลในพื้นที่ ที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันมันก็อดคิดไม่ได้ว่า เป็นการ"พ่วง"เอาเรื่องทางการเมือง มันเหมือนกับการ"กำหราบ" การจัดระเบียบเป็นการ"ปราม"กันอยู่ในทีว่า"อย่าแตกแถว"ออกไปให้ไกลเป็นอันขาด เพราะนี่คือโรดแมปใหม่หลังการเลือกตั้งว่าต้องสนับสนุนใครให้"สืบทอดอำนาจ" กันต่อ อย่างน้อยก็เรียกว่าช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น